วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ค่ายวัยใสใส่ใจบุพการี นครสวรรค์

การเรียนรู้จาก ค่ายวัยใสใส่ใจบุพการี
โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ของเครือข่ายพุทธิกา
๑๐ - ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ สักทองรีสอร์ท นครสวรรค์


อาจารย์เสริมพงษ์ คุณาวงศ์
มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาเขตนครสวรรค์


ค่ายวัยใสใส่ใจบุพการี เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยหน่วยงานจัดการความรู้เพื่อชุมชน ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายพุทธิกา และมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ในประเทศไทย โดยรับทุนค่าใช้จ่ายจากสำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(ส.ส.ส.) ผ่านมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ผู้เข้าอบรมเป็นเยาวชนระดับมัธยมจากตำบลเขาทอง และตำบลหนองปลิง (มีระดับประถม ๖ ๓ คน) และอสม.จากเขาทอง ๕ ท่าน เป็นพี่เลี้ยง การอบรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากงานองค์กรเรียนรู้ของท้องถิ่น และงานศึกษาการวางแผนทำผังเมืองในตำบลเขาทอง ของสาขาสถาปัตย์ชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ เข้าร่วมศึกษาเรียนรู้ด้วย
ค่ายวัยใสฯ เริ่มด้วยการกล่าวถึงจุดมุ่งหมายโครงการที่ต้องการให้เรียนรู้เพื่อการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนคนรุ่นใหม่กับผู้สูงอายุซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในเขาทอง (๒๔% ?) และผู้ปกครอง เริ่มอบรม ทีมงานฉือจี้ได้พาดูสื่อเตือนใจให้เด็กตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัดและผลของการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยเรื่องราวของคนในมณฑลกันซู่ ประเทศจีน ก่อนแนะนำภารกิจทั้ง ๘ของฉือจี้ คุณวัชราภรณ์ได้กล่าวถึง ๒ สิ่งที่ท่านธรรมาจารย์ย้ำเตือนเสมอว่ารอไม่ได้ คือ การทำความดี และการแสดงความกตัญญูกตเวที การแนะนำภารกิจทั้ง ๘ ของพุทธฉือจี้ เน้นที่เรื่องราวของครอบครัวบุญคุณ* เรื่องของคุณยายทองสุข อายุ ๘๐กว่าปีที่ตาบอด แต่ก็เลี้ยงดูสมบัติลูกชายปัญญาอ่อนที่ช่วยตัวเองไม่ได้โดยไม่ยอมทอดทิ้ง เรื่องของคุณยายวรรณาที่ปัญญาอ่อน มีลูกปกติแต่ปฏิเสธที่จะดูแล ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของความรักของแม่ เด็กหลายคนน้ำตาซึมเมื่อได้รู้เห็นเรื่องราว เห็นความพยายามของคนฉือจี้ที่จะช่วยให้ครอบครัวบุญคุณมีความสุขแม่ลูกพี่น้องรักใคร่กัน เห็นวิธีการทำงานที่เกาะติดอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ซึมซับวิธีการดูแลผู้สูงอายุที่อ่อนโยน ละเอียดอ่อน และรอบคอบ จากนั้น ก็พาให้รู้เรื่องราวของยายน้อย หญิงชราพิการทั้งขาและแขน อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง แต่ไม่ท้อต่อชีวิต รับรู้พลังของการรวมกลุ่มสมาชิกนับร้อยที่เข้าช่วยเหลือทำความสะอาดที่อยู่ของยายน้อย ซึ่งเป็นจุดเด่นที่น่าชื่นชมของชาวฉือจี้ ถึงจุดนี้ เชื่อว่าเด็กเริ่มเห็นแง่มุมของชีวิตที่ต่างจากเดิม บางคนเริ่มมองย้อนดูเรื่องของตนและคนในชุมชน
การบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศได้นำภาพการช่วยเหลือชาวพม่าเมื่อคราวถูกพายุนากีสเข้าถล่ม เห็นสีหน้าแววตาเด็กๆและผู้คนที่ยินดีอย่างใสซื่อสร้างควมปีติยินดีให้กับผุ้พบเห็น เห็นความพยายามของชาวฉือจี้ และหลักการที่ช่วยอุดหนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นด้วยการซื้อสินค้าในท้องถิ่นช่วยเหลือ ซึ่งจะได้สิ่งของที่เหมาะสมกับผู้ใช้และเป็นการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจด้วย สังเกตเห็นการร่วมมือของคนท้องถิ่นในทีมงานอาสาฉือจี้ด้วย การใช้ภาษามือร้องเพลงร่วมกัน ภาษามือ “ก่านเอิน” สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอบอุ่นมากขึ้น การออกหน่วยรักษาพยาบาล ได้เห็นภาพความร่วมมือของจิตอาสาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หลากหลายอาชีพที่เต็มใจทำงานอย่างตั้งใจ
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เด็กๆทึ่งมาก กับเสื้อกรรมการฉือจี้ที่ทำมาจากขวดพลาสติก
รีไซเคิล ข้อมูลการใช้กระดาษ ๕๐ ก.ก. เท่ากับ ต้นไม้อายุ ๒๕ ปี ๑ ต้น แม้เป็นข้อมูลสำคัญแต่ดูเหมือนเด็กๆจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับตัวเองว่าควรจะทำอะไร คุณสมชายได้แทรกข้อคิดให้ทำสามความดี คือ ปากพูดแต่สิ่งดีๆ มือทำแต่สิ่งดีๆ และขาเดินไปในทิศทางที่ดี แล้วการอบรมก็ดำเนินมาถึงเรื่องของหญิงชาวจีน แม่ของเด็กหญิง ๒ คน ที่ประสบอุบัติเหตุทางสมองช่วยตัวเองไม่ได้ สามีต้องออกจากงานมาดูแลภรรยา ลูกน้อยสองคนต้องอยู่โดยลำพังเป็นส่วนใหญ่ เด็กๆเรียนรู้ความไม่แน่นอนของชีวิตความเจ็บป่วยเป็นภาระต่อครอบครัว ภาพห้องของลูกๆตอนที่ชาวฉือจี้ไปเยี่ยมครอบครัวนี้ครั้งแรก สร้างเสียงฮือฮาให้กับห้องประชุม เพราะรกเลอะมาก การช่วยเหลือที่มุ่งสอนให้เด็กช่วยตัวเองเป็นหลัก ตอกย้ำหลักการช่วยคนของชาวฉือจี้ที่ต้องอาศัยความอดทน ความต่อเนื่อง และสร้างผลกระทบต่อคนรอบข้าง สังคม ซึ่งในกรณีนี้ ลูกทั้งสองหลังจากเรียนรู้ที่จะพึ่งตัวเองได้แล้ว ยังสามารถไปปลอบโยน ให้กำลังใจแม่ได้ ทำให้แม่คลายความทุกข์กังวลฟื้นจากการเจ็บป่วยได้ดีขึ้น ทำให้นึกถึงนิทานอีสบเรื่องราชสีห์กับหนู
การออกเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เด็กๆได้ฝึกพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วย และได้ร้องเพลงครอบครัวเดียวกันประกอบภาษามือให้ผู้ป่วยด้วย ส่วนใหญ่เด็กยังแสดงออกอย่างขัดๆเขินๆเพราะยังไม่เคยทำ จากการสังเกตประสบการณ์นี้น่าจะกระทบใจเด็กหลายคนให้นึกถึงเรื่องของตนเอง กิจกรรมต่อด้วยการเยี่ยมผู้สูงอายุในนิคมคนชราเขาบ่อแก้ว ที่นั่น เด็กๆได้สัมผัสบีบนวด พูดคุยกับผู้สูงอายุตัวต่อตัว ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่สนิทสนมไหลลื่นดีมาก จะมีก็แต่ผู้สูงอายุชายที่ส่วนใหญ่จะมีเรื่องพูดคุยน้อยกว่า และการสัมผัสก็มีอุปสรรคเรื่องต่างเพศ มีการร้องเพลงประกอบภาษามือครอบครัวเดียวกัน และเพลงแม่จ๋า พลังที่ส่งให้สร้างน้ำตาของความปีติไหลนองหน้าแทบทุกคน ช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตและให้ข้อคิดกับเด็กๆเป็นช่วงที่ดีมาก ท่านได้กรุณาเล่าสาระสำคัญของชีวิตจากประสบการณ์ท่าน ทำให้ผมเกิดมุมมองใหม่ว่า ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีค่า อยู่ที่เราจะสามารถเข้าใจคุณค่าที่ท่านมีอยู่มากน้อยเพียงใด กับเด็กๆเขาได้เห็นคุณค่าของตนเองว่าสามารถที่จะให้ความสุขแก่ผู้อื่นได้ ได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆที่ทำให้เข้าใจชีวิตตนเอง และนำมาให้ในชีวิตของตนเองได้ ช่วงแบ่งปันประสบการณ์เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบริบาลก็เป็นช่วงที่ประทับใจ ที่สร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพนี้ให้กับเด็ก กิจกรรมสุดท้ายของวัน เด็กส่วนหนึ่งได้มีโอกาสป้อนอาหารให้บุพการีของตนที่มาร่วมงาน ช่วงแรกๆ คุณพ่อบางคนเสแสร้งหัวเราะทำตลกกลบเกลื่อน แต่ตอนท้ายก็ต้องหลั่งน้ำตาให้กับความปลื้มปีติ เด็กหลายคนรับว่า เพิ่งได้กอดพ่อเป็นครั้งแรก เหตุการณ์นี้สร้างความตื้นตันใจให้กับทุกคน
วันรุ่งขึ้นมีการตั้งท้องสมมุติถึงบ่าย โดยใส่ลูกโป่งในเสื้อ สังเกตดูเด็กไม่ได้เรียนรู้อย่างที่ต้องการมากนัก การเรียนตอนเช้าเป็นประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเขาทองที่มีต่อผู้สูงอายุ เนื้อหาจะเป็นเรื่ององค์ความรู้ด้านเทคนิคเป็นส่วนใหญ่ ก่อนพักเที่ยง เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์กระบวนการพูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งมิตรภาพบำบัด วิทยากรเลือกวิธีให้เด็กสัมผัสกระบวนการด้วยตัวเองด้วยการสงบอยู่กับตัวเอง และแบ่งปันเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวของตน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยนำมาพูดคุยเสมอ วงสนทนาและการสะท้อนการเรียนรู้แสดงผลของกระบวนการอบรมที่ดำเนินมาแต่ต้น เกิดการมองย้อนทบทวนตนเองได้ชัดขึ้น ตอนบ่าย เรียนรู้ความรัก ความยากลำบากของแม่ก่อนคลอดท้องสมมุติ ตามด้วยกิจกรรมนันทนาการ และเขียนสะท้อนการเรียนรู้ เป็นการสิ้นสุดกิจกรรมที่ ๑
ช่วงเย็น เป็นกิจกรรมที่ ๒ ผู้อาวุโสคือรากแก้วของครอบครัวและสังคมไทย เริ่มด้วยกิจกรรม โยงใยชีวิต และสะท้อนการเรียนรู้ จะได้ข้อคิดเรื่องความสามัคคี การเชื่อมโยงของปัญหา ความอดทนเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา จากนั้นก็ถึงเวลาของการสงบคิด วาดความฝันของแต่ละคนด้วยสีชอล์ก และแบ่งปันเรื่องราวของทุกคนท่ามกลางแสงเทียน เลียนแบบประสบการณ์การสนทนายามค่ำของบรรพบุรุษ ความฝันของแต่ละคนที่อยากทำเพื่อคนอื่นถูกถ่ายทอดจากความรู้สึกที่แท้ของแต่ละคน หลอมรวมเป็นความฝันร่วมกัน
เช้าวันสุดท้าย เริ่มด้วยเสวนา หัวข้อ ผู้สูงอายุคือรากแก้วของครอบครัวและสังคมโดยผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานกับผู้สูงอายุ และให้เยาวชนแบ่งปันความคิดเห็นที่มีต่อผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเห็นควรว่าน่าจะสนใจดูแลช่วยเหลือตามกำลังตน ช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มคนตามท้องถิ่นที่อยู่ ๕ กลุ่ม วาดฝันของกลุ่มร่วมกัน และนำเสนอมีการคิดทำกิจกรรมน่าสนใจและเป็นไปได้ ซึ่งได้มีการเตรียมการติดตามความคืบหน้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น