วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จิตอาสาฉือจี้ในมุมมองของพยาบาลคนหนึ่ง




โดย
คุณเพียรพร ยูงทอง
วทม.สาขาการเจริญพันธ์และประชากร
PCU วัดช่องคีรีศรีสิทธิวราราม
รพ.นครสวรรค์


คำถามที่มักจะได้ยินอยู่เสมอเมื่อได้รับรู้เกี่ยวกับฉือจี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง? บางคนก็สงสัยว่าเป็นลัทธิอะไรหรือเปล่า? ทำไมต้องทำอย่างฉือจี้? ของไทยเราก็ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ ทำไมจะต้องก้มมากขนาดนั้น เรามีรูปแบบของเราอยู่แล้ว อาสาสมัครของเราก็มีอยู่แล้ว ทำไมต้องเป็นแบบฉือจี้ด้วย สร้างภาพประชาสัมพันธ์มากเกินไปไหม? นี่คือคำถามของผู้ที่ยังคลางแคลงใจ ไม่เชื่อใจว่าจะมีคนทำอะไรได้ดีๆจากใจได้ขนาดนั้น แต่สำหรับคนส่วนใหญ่เมื่อได้รู้จักก็รู้สึกดีและทึ่งว่ามีองค์การกุศลที่ทำด้วยใจที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ มีสมาชิกจำนวนมากทั่วโลก และดำเนินการต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ทำให้คิดถึงคำพูดที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”
สำหรับตัวเองที่เป็นพยาบาลคนหนึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีในอุดมคติที่ตนค้นหาอยู่ และอยากให้มีในระบบสาธารณสุขของบ้านเรา เพราะนี่คือหนทางที่ทำให้ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการมีความสุข มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และพัฒนาไปสู่สังคมที่สงบเย็นและอุดมปัญญาในที่สุด ซึ่งจะขอวิเคราะห์โดยใช้การเรียนรู้ผ่านตัวเองเป็นขั้นตอนดังนี้

รู้จักฉือจี้ครั้งแรก
เมื่อประมาณปี2549 ต่อปี2550ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ที่เขียนเรื่องมูลนิธิพุทธฉือจี้และเรื่องบริการทางการแพทย์ กล่าวโดยสรุปคือ โรงพยาบาลของฉือจี้มีการรณรงค์ภายในเพื่อสร้างจิตวิญญาณการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เรียกว่า “The mission to be a human doctor” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาจิตใจของผู้รับบริการทุกระดับให้ใส่ใจในคุณค่าศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ให้เกียรติและให้ความเคารพคนทุกคนทุกระดับชั้น และให้ระลึกในพระคุณของผู้ป่วยและญาติที่มาใช้บริการ โดยกล่าวว่า “แพทย์ พยาบาลและทีมงานมีหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นทุกคนต้องลดตัวตนให้เล็กที่สุด จึงจะทำภารกิจที่สำคัญนั้นได้” หลังจากได้อ่านรู้สึกประทับใจมาก และได้นำไปให้คุณหมอมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์อ่านด้วย เราต่างก็เห็นตรงกันว่าอยากเผยแพร่ให้บุคลากรของโรงพยาบาลได้รู้จัก จึงได้เขียนจดหมายไปตามที่อยู่ในหนังสือ เพื่อขอหนังสือนำมาแจกให้ผู้สนใจ แต่ทางไปรษณีย์ตีกลับว่า ไม่มีที่อยู่ตามจ่าหน้า ต่อมาจึงใช้การโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีผู้รับสาย และต่อมาทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายให้แต่ละโรงพยาบาลดำเนินการด้านจิตอาสา โดยกำหนดให้มีการรายงานกิจกรรมในแต่ละเดือน ซึ่งทางกลุ่มงานเวชกรรมสังคมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบงานนี้ ทางเราก็ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด



เรียนรู้จิตอาสาฉือจี้ไต้หวัน
ต่อมาในปี2552ได้มีโอกาสศึกษาดูงานเกี่ยวกับฉือจี้ที่ไต้หวัน โดยร่วมเดินทางไปกับคณะอาจารย์ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทางนครสวรรค์เราไปด้วยกัน 3 คน โดยออกเงินค่าเดินทางกันเอง คุณหมอสมพงษ์ ยูงทองซึ่งเป็นผู้บริหารของวิทยาเขตนครสวรรค์มีความตั้งใจอย่างมากที่จะให้ระบบบริการ และการเรียนการสอนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเองที่เป็นTransformative Learning ซึ่งเราเลื่อมใสในแนวทางฉือจี้กันมาอยู่นานแล้ว จึงได้ชวนคุณวาสนา อัศรานุรักษ์ ประธานกลุ่ม YCL (Young Community Leader) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ เพื่อให้เข้าใจแนวทางของฉือจี้ไปพร้อมกัน สำหรับการศึกษาดูงานคือวันที่ 21-25 พฤษภาคม 2552 โดยมีคุณกวิช ไตรวงศ์ไพศาล ไปในคณะของศูนย์จิตตปัญญาศึกษาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของพวกเราที่ได้รับความรู้จากคุณกวิช มากมายหลายเรื่อง และเป็นผู้ที่ช่วยแปลภาษาจีนให้ฟัง และได้เรียนรู้อักษรจีนบางตัวอย่างน่าทึ่ง ที่ให้เห็นถึงรากของอักษรแต่ละเส้นคืออะไร มีความหมายอย่างไร เมื่อประกอบเป็นตัวใหม่แล้ว ความหมายคืออะไร ทำให้อยากกลับไปเรียนภาษาจีนใหม่
การมาศึกษาดูงานฉือจี้ที่ไต้หวันครั้งนี้มีความประทับใจหลายเรื่อง ได้เรียนรู้เรื่องราวและปณิธานอันยิ่งใหญ่ของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อเกิดภารกิจ 4 ด้านของมูลนิธิพุทธฉือจี้ คือ การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์ การศึกษา และวัฒนธรรม มนุษยธรรม ซึ่งมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ และถือว่าคณะของเรามีบุญที่ได้ยืนต้อนรับท่านธรรมาจารย์ขณะที่จะเข้าห้องประชุม ท่านได้กล่าวทักทายคณะของเรา โดยมีคุณกวิชเป็นผู้ตอบเป็นภาษาจีน พวกเราทุกคนรู้สึกปลื้มปิติมาก
สิ่งที่ประทับใจมากจากการพบจิตอาสาฉือจี้ที่เราไปเยี่ยมชมทุกที่นั้น ให้การต้อนรับด้วยรอยยิ้มที่อบอุ่นทุกคน ทุกคนมีความสุขกับการพาชมกิจกรรมและบอกเล่าเรื่องราวอย่างมีชีวิตชีวาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตั้งแต่สถานีแยกขยะรีไซเคิล สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย โรงพยาบาลซินเตี่ยน พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแพทย์ วิทยาลัยพยาบาล และสมณารามจิ้งซือที่ฮวาเหลียน คณะของเรามีสุ่ยมามา และคุณบังอรดูแลไปตลอดเส้นทางพร้อมกับมัคคุเทศน์คือคุณส้มและจิน ขณะนั่งรถ
สุ่ยมามาก็จะบรรยายเป็นภาษาจีนโดยมีคุณจินและคุณส้มช่วยแปล ทำให้เราคิดถึงอาสาสมัครของเราอยากให้ทำงานอย่างมีความสุขและเห็นคุณค่าในการทำงานเช่นนี้จัง และที่สมณารามมิสเตอร์หวู่มารอต้อนรับพวกเรา โดยเดินทางล่วงหน้าทางรถไฟจากไทเปมา มิสเตอร์หวู่ชอบคณะที่มาจากเมืองไทยและจะมาต้อนรับตลอด ได้รับความรู้จากมิสเตอร์หวู่เป็นอย่างดี ทางคุณกวิชได้เล่าถึงความตั้งใจของหมอสมพงษ์ ที่จะนำเอาเรื่องจิตอาสาฉือจี้ไปดำเนินการในมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตนครสวรรค์ และอยากส่งนักศึกษาแพทย์มาเรียนที่ไต้หวันด้วย ซึ่งทางคุณกวิชและมิสเตอร์หวู่ได้เรียนให้ท่านธรรมาจารย์ทราบ ซึ่งท่านธรรมาจารย์ก็ยินดีให้การสนับสนุน

ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ชุมชนร่มเกล้า
หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ทางมูลนิธิฉือจี้ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาตาต้อกระจกร่วมกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ทางเราจากนครสวรรค์ได้ไปร่วมเรียนรู้ ได้พบกับคุณกวิชและคุณสุชน ทางคุณกวิชได้เล่าให้ฟังว่าได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับฉือจี้ซึ่งซื้อมาหลายเล่ม (ที่เห็นฝากคุณส้มมาตอนพวกเราจะกลับมาเมืองไทย รู้สึกประมาณ 3 ลัง ตอนนั้นคุณกวิชเดินทางไปปักกิ่งต่อ) ยิ่งอ่านยิ่งเห็นความละเอียดลึกซึ้งที่ท่านธรรมาจารย์ทำงาน ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในทุกอย่างมีที่มาไม่ว่าจะเป็นรากฐาน พื้น เสาและสิ่งแวดล้อมต่างๆในการสร้างโรงพยาบาล ทุกอย่างมีความหมาย และให้ความสำคัญต่อคนไข้และญาติ ในการดูแลรักษา ดังนั้นถ้ามหิดลนครสวรรค์จะส่งนักศึกษาไปเรียนที่ฉือจี้ไต้หวัน เพียงคนสองคน กลับมาทำงานก็คงยาก คุณกวิชแนะนำว่าควรทำอย่างเป็นระบบตั้งแต่แรกเช่นเดียวกับฉือจี้ ซึ่งอาจจะเป็นแบบอย่างของภูมิภาคนี้ในอนาคต สำหรับตัวเองรู้สึกยินดี และใฝ่ฝันที่จะได้เห็นระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเช่นนี้มานาน แต่ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งยากที่จะขับเคลื่อนในการสร้างโรงพยาบาลที่มาจากศูนย์ ทั้งด้านงบประมาณต่างๆ และการสร้างแนวร่วมในสังคม แต่ก็มีแรงบันดาลใจที่จะก้าวเดินในแนวทางนี้

เข้าร่วมอบรมจิตอาสาฉือจี้ที่โพธาราม
ต่อมาทางมูลนิธิฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทยได้ร่วมกับโรงพยาบาลโพธาราม จัดอบรมจิตอาสารุ่นที่4 ที่โพธาราม ในวันที่1-4 ก.ค.2553 ทางนครสวรรค์ของเราไปเข้าร่วมอบรม 10 คน โดยเป็นอาจารย์ เจ้าหน้าที่และอสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้าน ) รวม6 คน ส่วนทางโรงพยาบาลเราไปกัน 4 คนเป็นพยาบาล 3 คน และนำทีมโดยคุณหมอมนทกานติ์ ก็เป็นความฝันที่เราจะได้มาสัมผัสจริงจากการฝึกฝนก่อน หลังจากที่ได้จากการอ่าน จากการศึกษาดูงานมาแล้ว
การอบรมครั้งนี้ก็ทำให้ได้เรียนรู้ตัวเองมากเหมือนกัน การจะเป็นจิตอาสาที่ดีไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ต้องมีการบ่มเพาะที่เป็นรูปแบบที่เราไม่คุ้นชิน เกิดข้อคำถามขึ้นในใจเป็นระยะอยู่เหมือนกัน ในเรื่องที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราเคยฝึกมา แต่สุดท้ายก็คลี่คลายกับตัวเองได้ ก็คิดว่าอาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนสำหรับบางคนที่อาจจะยังคับข้องใจอยู่บางประเด็น แต่นี่ก็คือข้อคิดเห็นส่วนตัว
ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมคณะวิทยากรฉือจี้ เจ้าหน้าที่ด้านโสต พ่อครัวและแม่ครัว รวมทั้งทีมงานของโพธารามทั้งคุณหมอสมบูรณ์ นันทานิช และพยาบาลที่เป็นพี่เลี้ยงและแม่ไก่ และที่สำคัญนำทีมโดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี นายแพทย์บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ ที่ให้การดูแลในการอบรมที่อบอุ่นและดูแลทุกข์สุขเป็นอย่างดี มีการดำเนินงานที่มีระบบระเบียบพิถีพิถัน ได้เรียนรู้อย่างมากมาย และได้เรียนรู้ใจตัวเองนี่ก็สำคัญ มนุษย์เราก็มีเพียง 2 อย่างคือความชอบและไม่ชอบ
เห็นความตั้งใจของวิทยากรทุกท่าน คุณสุชน ได้สร้างแรงบันดาลใจของความเคารพ ศรัทธาเลื่อมใสท่านธรรมาจารย์ และงานฉือจี้ต่างๆที่ได้ทำกันมาทั้งในประเทศไต้หวัน ประเทศไทย และประเทศต่างๆทั่วโลก เห็นความมุ่งมั่นที่คุณสุชนทำมายาวนาน เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่ห่วงใยลูกหลาน สำหรับน้องหญิงก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความศรัทธาและถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างดี และเป็นธรรมชาติ เห็นพลังของทุกท่านที่ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ทั้งที่ตื่นแต่เช้ามาสอนการออกกำลังกาย ในขณะที่กลางคืนทุกท่านก็อยู่สรุปงาน และเตรียมงานวันใหม่
ที่กล่าวว่าได้เรียนรู้ตัวเอง และเรียนรู้ใจตัวเองก็คือ ในการเข้าค่ายนี้ ตัวเองมีความขัดแย้งและคับข้องใจอยู่ในช่วงแรกๆ ได้แก่ช่วงเช้าที่มีการออกกำลังกาย และมีการเจริญสติด้วยการเดินจงกรม ซึ่งมีการกำหนดการย่างเท้าที่เหมือนกันตามจังหวะที่เคาะให้สัญญาณ ในตอนนั้นรู้สึกอึดอัด เพราะเคยไปปฏิบัติธรรม มา พระอาจารย์ให้กำหนดรู้กับการก้าวเดินตามสบาย ไม่เพ่ง ไม่เผลอ แต่เมื่อถูกกำหนดรู้ตามเสียงเคาะจังหวะ และการกำหนดเท้าที่ก้าวข้างเดียวกันทุกคน ทำให้รู้สึกเกร็ง และไม่มีสมาธิเท่าที่ควร เพราะเกิดวิตกวิจารณ์ขึ้น แต่ต่อมาก็คลี่คลายกับตัวเอง เมื่อได้เห็นภาพที่ชาวฉือจี้เป็นหมื่นที่ร่วมงานประจำปีบริเวณลานกว้าง (จำไม่ได้ว่าบรรยายว่าที่ไหน) ภาพที่เห็นนั้นเป็นระเบียบมาก ความคิดที่ติดค้างหายไปสิ้น เกิดปัญญาเข้าใจแล้วว่า เพื่อความเป็นระเบียบ เพราะเป็นคนมาอยู่ร่วมกันมหาศาล ถ้าไม่เช่นนั้นจะดูวุ่นวาย และเห็นต่อไปอีกว่านี่คือการสร้างวินัยร่วมกัน นี่ไงที่เรามักพูดว่าทำไมประเทศอื่นเด็กๆจึงมีระเบียบวินัย ก็เพราะเขามีการสร้างกันอย่างจริงจังในทุกระดับ ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และเกิดการไม่ติดยึดถือมั่นในรูปแบบ และสัญญาเดิมที่มีอยู่ เป็นเพียงรับรู้อย่างโปร่งเบากับปัจจุบัน ที่ก้าวเดินไปพร้อมกับเสียงจังหวะที่เคาะ ..........
ความจริงเมื่อเข้าใจแก่นก็คือ รับรู้กับการเคลื่อนไหว ในหลายวิธีแล้วแต่จริตของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติด้วยการเคลื่อนไหวมือ 14 จังหวะแบบของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ การรับรู้ลมหายใจ หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ หรือการรำมวยไท้เก็ก ชี่กง หรือแม้แต่โยคะ ซึ่งล้วนแต่เป็นการฝึกสติ สมาธิ แล้วแต่ใครถนัด เมื่อรู้อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปยึดติดจนทุกข์ ไปอยู่ตรงไหนเราก็ปรับตัวกับรูปแบบของเขาอย่างเข้าใจ ก็โปร่งเบาดีขึ้น
หรือแม้แต่ต่างศาสนา ถ้าเราเข้าใจมีความรู้สึกที่ดีไปกับเขาด้วย ก็จะรับรู้ไม่ต่างจากที่เราปฏิบัติ ตัวเองเคยตามเพื่อนไปโบสถ์คริสต์ขณะที่ฟังเพลงสวดก็รู้สึกถึงความสุขสงบ และตัวเองเคยทำกิจกรรมให้นักศึกษาพยาบาลซึ่งเป็นชาวใต้และนับถือศาสนาอิสลาม เราขอให้เขาทำละมาดให้ดู ขณะที่ฟังเสียงนำสวดนั้นรับรู้ถึงพลังศรัทธาและความสงบในจิตใจ จนกระทบใจเราและเกิดปีติน้ำตาไหล คล้ายๆตอนที่เราปฏิบัติธรรมแล้วเกิดปีติน้ำตาไหลเหมือนกัน เมื่อเข้าใจตรงนี้ก็รับรู้ว่าทุกศาสนาล้วนมุ่งสู่ความดี ความงามเช่นกัน แต่มีรูปแบบที่ต่างกันไป ดังนั้นถ้าเราเปิดใจไม่ยึดติด ก็จะเห็นตามที่ท่านธรรมาจารย์ว่า “เราคือครอบครัวเดียวกัน” ไม่ต้องแบ่งแยกเราเขา ก็ไม่ทุกข์ระแวงสงสัย ในเมื่อรับรู้ว่าดี ใยต้องระแวงว่าทำไมดีเกินเหตุ น่าจะมีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า เป็นเพราะสังคมเรามักคิดว่าคนเราทำอะไรก็ต้องหวังผลอะไรที่ซ่อนเร้นหรือเปล่า เราลองมองลึกลงไปถึงก้นบึ้งของจิตเราซิ เห็นพิรุธในใจเราหรือไม่ ที่ไม่วางใจผู้คนซึ่งมีมานานแค่ไหนไม่อาจรู้ได้ แต่ถ้าเราไม่ผ่าตัดตัวเองคงจะยากที่จะให้ความไว้วางใจและเชื่อใจใครหรือแม้แต่คนใกล้ชิด ขณะที่เขียนบันทึกนี้ได้ยินเสียงเพลงของหมู่บ้านพลัม เข้ากับสิ่งที่พูดถึงพอดี..เราคือใบไม้ ต้นเดียวกัน เวลามีมาให้เรา ได้ใช้ร่วมกัน เราคือลูกคลื่นทะเลเดียวกัน เวลามีมาให้เรา ได้ใช้ร่วมกัน เราคือดวงดาวฟ้าเดียวกัน เวลามีมาให้เรา ได้ใช้ร่วมกัน เราคือดวงดาว ฟ้าเดียวกัน....

เผยแพร่แนวคิดและปรัชญาฉือจี้ในนครสวรรค์
หลังจากพวกเราได้ร่วมกันจัดการบรรยาย “ถ่ายทอดแนวคิดปรัชญาพุทธฉือจี้สู่การปฏิบัติ:ประสบการณ์โรงพยาบาลโพธาราม” เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2554 ที่ผ่านมา โดยมีคุณสุชน และคุณเมตตา จากมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย พร้อมคุณหมอสมบูรณ์และคณะจากโรงพยาบาลโพธาราม เป็นวิทยากร ซึ่งทำให้การรับรู้เกี่ยวกับจิตอาสาฉือจี้ชัดเจนมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมหลายหน่วยงาน มีทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล จากโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัด อาสาสมัครสาธารณสุข จิตอาสา ของโรงพยาบาลและ สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชนต่างๆ เจ้าหน้าที่ จากสาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด จาก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครสวรรค์ อาจารย์พยาบาลและนักศึกษาพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสวรรค์ประชารักษ์ และเจ้าหน้าที่ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ นอกจากนั้นได้มีการต่อโทรทัศน์วงจรปิดส่งไปตามหอผู้ป่วยทุกตึกในโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยความชื่นชมและอยากให้มีการจัดขึ้นอีก และมีผู้มาขอรับกระปุกออมสินจำนวน 77 คน งานนี้สำเร็จด้วยดีจากหลายฝ่าย เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม พวกเราได้มีการประชุมแบ่งงานกันช่วยกันทำตามความถนัดและความพร้อม และได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากทีมวิทยากรเป็นอย่างดี

เยี่ยมครอบครัวบุญคุณ
ในวันที่ 27 ก.พ.2554 พวกเราได้ไปเยี่ยมครอบครัวบุญคุณที่ตำบลเขาทอง ซึ่งเป็นที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ การเยี่ยมครอบครัวบุญคุณครั้งนี้ต่อเนื่องจากโครงการวัยใสใส่ใจบุพการี ซึ่งคุณดาริกาและคุณปฏิธรรม เป็นเจ้าของโครงการได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เครือข่ายพุทธิกา และได้มีการจัดอบรมเยาวชนจิตอาสาในตำบลเขาทอง และหนองปลิง เมื่อ10-13 ธ.ค.2553 โดยวิทยากรจากมูลนิธิฉือจี้ คือคุณสมชาย น้องหญิง และคณะ ที่ผ่านมาเยาวชนและอสม. และผู้จัดทำโครงการได้ไปเยี่ยมครอบครัวบุญคุณมาแล้วครั้งหนึ่ง และในวันที่27ก.พ.ได้มีการชวนพวกเราจิตอาสาไปร่วมด้วย ในวันนั้นเราไปกัน 7 คนที่อบรมฉือจี้มาแล้ว และมีเยาวชนวัยใสที่ผ่านการอบรมมาเช่นกัน รวมๆกันก็เป็น 10 กว่าคน ก็ได้เห็นพลังเวลาไปกันหลายคน เราไปเยี่ยมคุณตาเณรซึ่งเป็นอัมพาตมานาน 10 ปี แต่ต้องชื่นชมคุณยายไม้และลูกหลานที่ดูแลเป็นอย่างดี ไม่มีแผลกดทับเลย ใบหน้าผิวพรรณผ่องใส สะอาดสะอ้าน แม้คุณยายจะตัวเล็กนิดเดียวดูแลพยุงจนปวดหลังอยู่ตลอด ขอเล่าเหตุการณ์ความประทับใจจากการเยี่ยมในวันนั้น
ครั้งแรกที่เห็นคุณตานอนอยู่บนเตียง ลืมตาอยู่ แต่นอนนิ่งเฉย ขณะที่พวกเราบ้างก็ตัดเล็บ บ้างก็นวดคุณตา ตอนแรกเราคิดว่าคุณตาพูดได้หรือเปล่านะ ก็ลองถามคุณตาว่า “เห็นพวกเราไหมค่ะ” คุณตาบอกว่าเห็นลางๆ ก็ชวนคุณตาคุยต่อว่ากินข้าวเช้าหรือยัง คุณตาบอกว่า “กินข้าวต้มกับปลา” ก็ได้ถามคุณตาว่าเจ็บตรงไหนไหมค่ะ หลังจากนวดแขนขากัน คุณตาอยากตะแคง และเมื่อช่วยกันตะแคงแล้ว เยาวชนช่วยนวดหลัง คุณตาบอกว่า สบายดี ตอนหลังก็พยุงคุณตาลุกนั่งได้ พอคุณตาเห็นพวกเรามากันเยอะ ก็จะร้องไห้ ตื้นตันใจและบอกว่า “มากันเยอะ ไม่มีอะไรให้กินเลย” ทำให้เห็นว่าถ้าคุณตาดีๆ แข็งแรงคุณตาคงจะหาอะไรมาเลี้ยงดู แสดงถึงความมีน้ำใจโอบอ้อมอารี พวกเราได้เตรียมผลไม้ และพวงมาลัยไป โดยเยาวชนเป็นผู้มอบให้คุณตาและคุณยาย และป้อนผลไม้คุณตาคุณยาย คุณตาคุณยายให้ศีลให้พรเด็กๆ และคุณยายป้อนผลไม้ให้เด็กด้วย ขณะนั้นจิตอาสาที่พาไปเล่าว่าสมัยก่อนคุณตาร้องเพลงรำวงเก่ง พวกเราก็ขอให้คุณตาร้องให้ฟัง คุณตาบอกว่า “ถ้าร้องก็ต้องมีคนรำซิ” พวกเราก็ยินดี คุณตาก็ร้องว่า “จะมายืนหน้าเศร้าร้องไห้อยู่ทำไม” แล้วก็หัวเราะ บอกว่านึกไม่ออกแล้ว จิตอาสาบอกว่าเป็นเพลงชี้บทของชาวเขาทอง หลังจากนั้นลูกหลานและจิตอาสาชาวเขาทองก็ช่วยกันร้อง คุณตาคุณยายก็ร่วมร้องด้วย เป็นวรรคๆที่จำได้ คุณตายิ้มและหัวเราะอย่างมีความสุข และเยาวชนก็ร้องเพลงชี้บทและรำให้คุณตาดู และจบด้วยเพลงครอบครัวเดียวกัน ขณะที่เยาวชนลาคุณตาคุณยาย จิตอาสาบอกว่าคนนี้เป็นหลานลูกบ้านนั้นแม่ชื่อ... หลังจากนั้นเราจึงให้เยาวชนเข้าไปแนะนำตัวทีละคนว่าเป็นลูกหลานใคร ก็ให้รู้สึกว่าไม่ใช่อื่นไกลลูกหลานบ้านเราเอง เป็นภาพและบรรยากาศที่ดีมาก
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเยี่ยมครอบครัวบุญคุณ 2 บ้านที่ต่างจาการเยี่ยมบ้านที่เราได้ทำมาตลอดในการทำงานชุมชน วันนั้นเราไปในนามของจิตอาสาและเป็นภาพขององค์กร เป็นความรู้สึกที่ดีที่ลดความเป็นตัวตน เป็นลูกหลานที่เยี่ยมเยือนผู้สูงวัยผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมานาน และเห็นถึงพลังกลุ่ม ที่สามารถกระตุ้นศักยภาพของคนไข้และครอบครัวได้มากกว่า กระตุ้นแรงบันดาลใจของคุณตา ซึ่งถือเป็นจิตวิญาณของคุณตาที่ชอบร้องเพลงพื้นบ้าน รื้อฟื้นให้คุณตาและญาติเกิดพลัง แต่ถ้าเราไปเยี่ยมกันในหน้าที่ แม้ว่าตัวเองมักจะค้นหาแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจของคนไข้ แต่ก็คงไม่สามารถทำให้คนไข้ร้องเพลงออกมาได้ขนาดนี้ การเยี่ยมในบทบาทพยาบาลแม้เราจะพยายามทำตัวใกล้ชิดถอดหมวกพยาบาล แต่ลึกๆก็มีเส้นบางๆของความมีอำนาจที่เหนือกว่าอยู่ ซึ่งคนไข้และญาติมักจะยกให้สูงกว่าระดับของเขา ถามว่าดีไหม ?
แต่ถ้าต้องการการเข้าถึงความทุกข์ที่แท้จริงของผู้ป่วยและญาติก็คงไปไม่ถึงเท่าที่ควร ถ้าเราไม่อ่อนน้อมถ่อมตนพอ อย่างที่คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้พูดถึงพยาบาลหรือผู้ช่วยเหลือคนไข้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็คือลูกหลานชาวบ้าน แต่พอทำงานไปไม่นานก็ถูกกลืน สามารถดุว่าคนไข้ได้อย่างไม่ต้องมีใครสอนเลย และได้พูดถึงระบบบริการสาธารณสุขของเรานั้นมีความทุกข์ทั้งคนให้บริการ และคนรับบริการ เป็นการบริการที่เป็นกลไก ขาดความละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์ พยาบาลก็ทุกข์เพราะคนไข้ก็มาก งานก็หนัก คนไข้ก็ทุกข์เช่นกัน ในขณะที่อาสาสมัครมาช่วยงานแรกๆก็มีความเข้าอกเข้าใจคนไข้ที่ทุกข์ยากดี แต่ไปนานๆเข้าก็อาจจะชาชิน และเริ่มเป็นคนละระดับกับคนไข้แล้ว กลายเป็นหมออีกระดับหนึ่งที่อาจจะเผลอดุคนไข้ไปโดยไม่รู้ตัว ถามว่าถ้าเรามาทำงานในแต่ละวันทั้งในหน้าที่ และอาสาสมัคร แต่เราได้เผลอดุว่าคนไข้จนทำให้เขาขุ่นข้องหมองใจกลับไป เราได้หรือเสีย สิ่งดีงามที่ทำมาก็แทบจะหมดไป เรามักได้ยินว่าหมอ พยาบาลในขณะที่ทำบุญก็อาจจะทำบาปไปด้วยโดยไม่รู้ตัว จริงไหม?
ถามว่า ถ้าเราเป็นคนไข้เราต้องการการบริการดูแลอย่างไร คำตอบที่ทุกคนต้องการก็คือ
เราต้องการการดูแลดุจญาติมิตรซึ่งเป็นคำอมตะทุกยุคสมัย คนให้บริการก็อยากเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพื่อเป็นที่รักและมีคุณค่าในสายตาของผู้รับบริการและมีความสุขกับการทำงาน ส่วนอาสาสมัครก็ต้องการทำงานอย่างมีความสุข ได้รับการชื่นชมจากผู้รับบริการในความเสียสละทั้งเวลาและอื่นๆ แต่นานๆไปเราอาจจะพากันหลงลืมจิตวิญญาณที่ดีเหล่านั้นไปเสียเมื่อไหร่ ไม่รู้ได้ กลับกลายเป็นเสียงบ่นใส่กันเมื่อยามเหน็ดเหนื่อย เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง จะเห็นว่าความเครียด ความทุกข์ ทำให้เราขาดความสมดุลในชีวิต จนไม่มีความสุขจากการทำงาน ไม่ปีติกับงาน บางคนเหมือนนักเรียนที่ไม่อยากตื่นไปโรงเรียน ขาดพลัง และแรงบันดาลใจ หรือทำอย่างไรให้ผู้ที่ทำงานที่ดีและมีความสุขอยู่แล้ว มีความสุขยิ่งขึ้น และขยายผลสู่คนอื่นๆได้
ลองมองกลับอีกด้านหนึ่งที่มีการนำพา และบ่มเพาะให้เห็นคุณค่าในการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ และไม่ได้เกิดจากการเสแสร้ง หรือสร้างภาพ แต่ออกมาจากความละเอียดอ่อนจากภายในอย่างแท้จริง ลองพิศดูใบหน้าของจิตอาสาฉือจี้แต่ละคน ก็จะเห็นผิวหน้าที่ผ่องใส รอยยิ้มที่อบอุ่นและเป็นมิตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจะปั้นได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่ของจริง ชาวฉือจี้ถือว่าโรงพยาบาลคือวิหารธรรมที่ทำให้เราได้บ่มเพาะ ความเป็นพระโพธิสัตว์ โรงพยาบาลมีสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ได้ครบ ทั้งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราจะเรียนรู้และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร เข้าถึงความจริง ความดี และความงามได้อย่างไร เป็นคำถามที่น่าค้นหาคำตอบด้วยการน้อมตัวเข้าไปเรียนรู้ จากการลงมือปฏิบัติกับเขาอย่างเปิดใจจริง ภาพฝันที่ตัวเองต้องการเห็นคือ ภาพในโรงพยาบาลที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการมีสัมพันธภาพที่ดี เข้าใจกันดุจญาติมิตร และมีจิตอาสามาช่วยบริการในการดูแลจิตใจผู้ป่วยด้วย ช่วยลดความเครียดของผู้ป่วย และภาระงานของเจ้าหน้าที่และพยาบาลในส่วนที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนบางส่วน ก็จะเป็นโรงพยาบาลที่มีความสุข
ท่านธรรมาจารย์ได้นำพาชาวฉือจี้เดินตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ ด้วยหลักธรรมพรหมวิหาร 4 คือเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยนำมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ผ่านการทำงานจริง และเป็นอยู่ในเนื้อตัว ดังนั้นถ้าทุกส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา การเมืองการปกครองได้นำหลักธรรมมาปฏิบัติอย่างแท้จริง ก็น่าจะนำพาสังคมไปสู่ความสุข ถ้าเราไม่เริ่มตอนนี้ แล้วลูกหลานจะอยู่กันอย่างเป็นสุขในวันข้างหน้าได้อย่างไร ทำให้คิดถึงพุทธพจน์ที่ว่า “เมตตาค้ำจุนโลก”
นี่คือส่วนหนึ่งที่ได้เรียนรู้จักฉือจี้ในมุมมองของตนเองที่เป็นพยาบาล และได้ทำงานในชุมชนมานานพอควร ได้เห็นปัญหาต่างๆของผู้คน คิดว่าแนวทางของฉือจี้เป็นทางหนึ่งที่จะนำพาสังคมสู่ทางรอดได้ จึงขอแลกเปลี่ยนทัศนะของตนเองให้เพื่อนๆ อาจจะถูกหรือผิด แต่เป็นความกล้าหาญของตนเองระดับหนึ่งที่กล้าบอกกล่าวความรู้สึกตรงๆของตนเอง ทั้งช่วงที่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจ และเมื่อเปิดใจเราก็เห็นมุมมองใหม่ที่ดี และก็ถือว่าได้ผ่าตัด Explor ตัวเองด้วย

เพียรพร ยูงทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น