วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พระโพธิสัตว์น้อย กว่า 150 คน ปรากฎกายช่วยยายน้อย













เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2553
ได้เกิดเหตุการณ์ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในรอบร้อยกว่าปี ที่ตั้งวัดโพธิ์ไพโรจน์ มา
(วัดสร้างปี พ.ศ.2430)
พระโพธิสัตว์น้อย กว่า 150 คน ปรากฎกายช่วย
ยายน้อย บุญเกตุ
อายุ 77 ปี โสด ไม่มีลูกหลานดูแล
อาศัยอยู่ในวัดโพธิ์ไพโรจน์มานาน
ขาขวาขาดจากการผ่าตัด เนื่องจากเป็นแผลติดเชื้อร้ายแรง
แขนขวางอพิการมาตั้งแต่เด็กๆ

หลังจากได้รับการดูแลจาก อสม และชาวบ้านที่ใจบุญตลอดมา
ได้มีอาสาสมัคร ฉือจี้โพธาราม ท่านหนึ่ง คือซือเจี่ย โชติกา ติ๋วโวหาร
หลังจากได้มาเข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัครแล้ว
ท่านก็ได้ บำเพ็ญจริยาพระโพธิสัตว์ทันที
โดยการส่งCase ครอบครัวบุญคุณ
มาให้กรรมการฉือจี้ จากกรุงเทพ พิจารณา
คุณโชติกา ได้พาคุณเมตตา คุณสุชน ได้มาเยี่ยมยายน้อย
ดูตรวจสอบข้อมูลตามขั้นตอนของมูลนิธิพุทธฉือจี้
และได้นำเสนอ คณะกรรมการชุดใหญ่
และคณะกรรมการชุดใหญ่ได้มีมติรับ
คุณยายน้อยเป็นครอบครัวบุญคุณของฉือจี้ตลอดไป
พวกเราเรียกท่านเป็น "อาม่า" ให้สนิทเสมือนญาติผู้ใหญ่ของเรา

คณะกรรมการ อาสาสมัครฉือจี้ โพธาราม ได้วางแผนระดม
อาสาสมัคร ครั้งใหญ่ ในวันนี้ มาทำความสะอาดครั้งใหญ่ให้ที่พักของ
อาม่า ซึ่งเป็นอาคารโรงครัวร้างของวัดโพธิ์ไพโรจน์
มีปิ่นโต ถ้วยชาม หม้อทิ้งไว้มากมายนับพันพันชิ้น
วางแผนล้างให้สะอาดจัดเก็บให้ดี เพื่อถวายแด่พระสงฆ์วัดโพธิ์ไพโรจน์
ให้โรงครัวร้างสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย
เป็นที่อยู่อาศัยที่สะอาดแด่ อาม่าของพวกเรา

คุณเมตตาคำนวณแล้วว่า ต้องมีคนไม่น้อยกว่า 100 คนจึงจะพอเพียง
ท่านสสจ.ราชบุรี บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์
จะให้เชิญชวน พระโพธิสัตว์น้อยผู้ใจบุญทั้งหลาย
ให้ได้ครบ 500 คน เป็นพระโพธิสัตว์ใหญ่เลย
คุณเมตตาบอกว่า จะมากไปไหมเพราะไม่เคยจัดงานใหญ่ขนาดนี้
สำหรับการเยี่ยมครอบครัวบุญคุณ 1 คนแบบในครั้งนี้
ตกลงก็อยู่ที่ตัวเลขราว 200 คน

ในวันนี้ก็มี ผู้มาช่วยงานจากหลายๆหน่วยงาน อาทิเช่น
อสม จากอำเภอต่างๆ จากสาธารณสุขอำเภอโพธาราม
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี
เทศบาลเมืองโพธาราม
รองนายก สมชาย นำทีม ความสะอาด รถน้ำ กองดับเพลิง
พร้อมทีมงาน
อาจารย์วาสนา วิสฤตาภา
หัวหน้าศูนย์ อาสาสมัคร เพื่อสังคม
มหาวิทยาลัย ธุรกิจบัณฑิตย์
นำนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ในหลักสูตรจิตอาสากว่า ราว 50 ท่าน
มาช่วยงาน
อาจารย์เกศินี จุฑาวิจิตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
นำลูกศิษย์จำนวนหนึ่งมาช่วย
อาสาสมัครฉือจี้จาก กทม
รวมทั้งแกนนำคืออาสาสมัครฉือจี้โพธารามจำนวนมาก

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กฎที่ต้องปฏิบัติ ในการไปเยี่ยมครอบครัวบุญคุณ2

กฎที่ต้องปฏิบัติ ในการไปเยี่ยมครอบครัวบุญคุณ2
บันทึก
จากการบรรยาย ของ กรรมการฉือจี้ ในการอบรมเป็นกรรมการ

การเยี่ยม ไปเพื่อ ช่วยคนจน สอนคนรวย รู้จักการบริการผู้อื่น จะทราบว่าเราเป็นผู้ที่โชคดี
ก่อนไปต้องแจ้งให้อาสาสมัครที่รับผิดชอบ Case ทราบเพื่อการเตรียมตัว โดยทั่วไป ไปครั้งหนึ่งไปหลาย Case
มีตารางการเยี่ยมชัดเจน
ไปครั้งละ อย่างน้อย 3-4 คน ห้ามไปคนเดียว ระหว่างเยี่ยมห้ามรับโทรศัพท์ เพราะเสียมารยาท
ระวังคำพูด
ห้ามรับปากว่าจะช่วยอะไร การจะช่วยอะไรต้องเป็นมติกรรมการเท่านั้น
ห้ามให้เบอร์โทรส่วนตัวกับคนไข้
ให้ของมูลนิธิเท่านั้น
คำถามที่ถาม Case หาถามอีก ซ้ำๆซากๆ Case อาจไม่พอใจ
กลับจากการเยี่ยมแล้วต้องมีการประชุมกันว่า จะต้องมีอะไรเพิ่มเติม หรือลดลง หรือไม่
ห้ามให้ของเป็นการส่วนตัว
ไปเยี่ยมครั้งแรก ให้แต่ ปกติ ไม่ใช่ชุดฉือจี้
ถ้าเป็น Case ครอบครัวบุญคุณแล้วเวลาไปเยี่ยมต้องแต่งชุดฉือจี้
การไปทำความสะอาด อาจใช้กางเกงดำได้ ห้ามใส่กางเกงขาสั้น ห้ามใส่รองเท้าแตะ
ให้ใส่ mask ถุงมือ

นพ.สมบูรณ์ นันทานิช ไปออกทีวี WBTV เรื่องการทำงานฉือจี้


ผศ.ดร.เกศินี จุฑาวิจิตร
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
ได้เชิญ นพ.สมบูรณ์ นันทานิช ไปเป็นแขกรับเชิญในรายการ
“รู้ ตื่น เบิกบาน”
ซึ่งเป็นรายการที่ มหาวิทยาลัย จัดทำรายการร่วมกับ
ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม
เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยจะออกอากาศ
ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา ๑๕.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ช่วงการสนทนาในรายการ ความยาวประมาณ ๒๐ นาที
โดย บันทึกเทปในวันศุกร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓
เวลา ๑๗.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. ณ สตูดิโอสถานีโทรทัศน์ WBTV
วัด ยานนาวา สาทร กรุงเทพมหานคร
ในรูปเป็นบรรยายกาศการบันทึกเทป เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553
โดยในช่วงแรกได้รับเกียรติจากท่านพระอาจารย์มหาจำลอง วัดยานนาวา
เป็นผู้ดำเนินการสนทนา
ช่วงหลังเป็นการสนทนาร่วมกับท่านอาจารย์เกศินี จุฑาวิจิตร
และท่านอาจารย์วิไล ตะปะสี ผู้ช่วยคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
ท่านผู้สนใจติดตามชมรายการท่าง WBTV ได้ในวันวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา ๑๕.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
เป็นวันใดจะแจ้งอีกครั้ง
ท่านผู้สนใจสามารถขอ DVD ที่บันทึกไว้ไปชมได้

ได้มีการถอดเทปโทรทัศน์นี้มาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ
" สืบสานสาระธรรม:รวมข้อคิดจากชีวิตจริงของคนในแวดวงสื่อสารความดี
จากรายการ "รู้ตื่น เบิกบาน " ทางWBTV"
เกศินี จุฑาวิจิตร,บรรณาธิการ

ส736   นครปฐม; โรงพิมพ์เพชรเกษมการพิมพ์ , 2555.214 หน้า ภาพปรพกอบ
1.พุทธศาสนา- -รวมเรื่อง I.เกศินี จุฑาวิจิตร,บรรณาธิการ.
ISBN  :  978-616-90284-8-2

หน้าแรกมีคำนิยมของ
1.พระพรหมวชิรญาณ
      กรรมการมหาเถรสมาคม  เจ้าอาวาสวัดยายนาวา  ประธานอำนวยการสถานีโทรทัศน์ WBTV
2.พระครูปลัด วีระนนท์ วีรนนฺโท
      เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช  ปทุมธานี
3.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี
      พลเมืองอาวุโส
4.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเดช นิลพันธุ์
     อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

หน้า ๑๓๕  เป็นเรื่องของ
นายแพทย์สมบูรณ์ นันทานิช
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธาราม

หมอไทยหัวใจอาสา
นายแพทย์สมบูรณ์   นันทานิช
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธาราม
....................................................................

...  ได้นำหนักพรหมวิหาร 4  มาปฏิบัติจริง ๆ ถ้าเราไม่ลงมือ
เราก็ไม่รู้ว่าเมตตา  กรุณา เป็นอย่างไร 
แต่ว่าฉือจี้ได้พาเราไปทำเลยว่ามันลำบากขนาดไหน
มีอุจจาระ ปัสสาวะ มีอะไรที่มันไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เลย
แต่ว่าเราทำแล้ว เรามีความสุข...........
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

พระมหาจำลอง  :  ขอเจริญสุขสวัสดีท่านผู้ชมที่อยู่ทางบ้านทุกท่าน รายการรู้ตื่นเบิกบาน  
ก็ได้มาพบกับท่านผู้ชมอีกครั้งหนึ่งในวันนี้แล้ว  ปกติผู้ที่เป็นพิธีกร คือ
 อ.เกศินี  ประทุมสุวรรณ  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 
แต่   เนื่องจากวันนี้อาจารย์ประสบปัญหาเรื่องการจราจร
อาตมาภาพ  พระมหา   จำลอง กตฺธมฺโม 
ก็ถือโอกาสเป็นพิธีกร แทนท่านอาจารย์ในวันนี้

       วันนี้ก็จะแนะนำให้ท่านผู้ชมทั้งหลายได้รู้จักกับกิจกรรมของ
ชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่กิจกรรมหนึ่งของมูลนิธิที่มีชื่อเสียง
ซึ่งถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศ ไต้หวัน เราจะบอกว่าเป็นมูลนิธิของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้
ในความเป็นจริงทุกศาสนานั้นมีหลักคำสอนเรื่องให้มนุษย์เห็นใจมนุษย์ 
สอนให้เรา   เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน 
ท่านจะเห็นว่าถ้าเป็นพี่น้องชาวคริสต์ก็จะสอนเรื่องหลักของความรัก 
ถ้าเป็นพี่น้องชาวมุสลิม เราคงจะได้ยินการเอ่ยวาจาว่า
พระเจ้าของชาวมุสลิมเป็นผู้ที่มีความกรุณา  ปรานีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ทีนี้เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธ เราก็มีคำสอนในเรื่องของ   ความเมตตา
 “เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก” เป็นธรรมที่ช่วยทำให้สังคม  
เราอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วยความเห็นอกเห็นกันและกัน เราคงคาดไม่ถึง  
ว่าพลังของเราชาวพุทธที่อยู่ในประเทศไต้หวัน นั้นก่อให้เกิดการสร้างสรรค์  
กิจกรรมในการช่วยเหลือมนุษย์อย่างมหาศาล จะเป็นอย่างไรนั้น

วันนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายได้มารู้จักกับคุณหมอผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก
มูลนิธิพุทธฉือจี้  นายแพทย์สมบูรณ์  นันทานิช
 
ขอเจริญพร  ขอให้คุณหมอได้   แนะนำตัวเองนิดหน่อยว่า
คุณหมอจบมาจากไหน ทำอะไรอยู่
นพ.สมบูรณ์    :   นมัสการพระคุณเจ้าและสวัสดีคุณผู้ชมทุกท่านครับ
กระผมจบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อปี  2520 
จากนั้นก็ได้ไป   ปฏิบัติราชการที่จังหวัดนครราชสีมา  13  ปี  
จากนั้นได้ย้ายมาทำงานที่   โรงพยาบาลโพธาราม  อำเภอโพธาราม  จังหวัดราชบุรี 
ซึ่งเป็นอำเภอบ้าน   เกิดนะครับ  ตอนนี้เป็นรองผู้อำนวยโรงพยาบาล


พระมหาจำลอง  : เจริญพร  ทีนี้คุณหมอในฐานะที่มีความประทับใจในมูลนิธิฉือจี้ 
อยากให้ช่วยแนะนำให้ท่านผู้ชมได้รู้จักหน่อยว่ามูลนิธิฉือจี้คืออะไร
และทำอะไรบ้าง

นพ.สมบูรณ์ : ครับ 
มูลนิธิพุทธฉือจี้เป็น มูลนิธิที่เกิดขึ้นที่ประเทศไต้หวันประมาณ 40    กว่าปีแล้วนะครับ 
ผู้ที่ก่อตั้งมูลนิธินี้เป็นพระภิกษุณีทางสายมหายาน 
เราเรียกกันว่า ท่านธรรมาจารย์ “เจิ้งเอี๋ยน” 
ท่านธรรมาจารย์เป็นผู้ที่มีปณิธานแน่วแน่และมุ่งมั่นในเรื่องของการปฏิบัติธรรม
ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา 
โดยท่านได้หนีครอบครัวทางบ้านมาออกบวชนะครับ    
จนกระทั่งได้ค้นพบหลักธรรมในทางพุทธศาสนา
สุดท้ายท่านก็ได้ออกบวช   ตามพิธีกรรมทางพุทธศาสนาตามที่พระไตรปิฎกบัญญัติไว้
เป็นภิกษุณีครับผม

พระมหาจำลอง : โดยทั่วไปชาวไทยเราอาจจะคิดว่าภิกษุณีนั้นหมดไปจากโลกแล้ว 
แต่ว่าใน   ความเป็นจริงในฝ่ายมหายานนั้นยังมีการสืบสานภิกษุณี 
และที่สำคัญก็คือ   ว่าภิกษุณีท่านนี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในการตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ขึ้น เจริญพร


นพ.สมบูรณ์ : ครับ  คือ  ท่านได้พบกับความทุกข์ขากของประชาชน  ท่านไปอยู่ในป่า  
ท่านก็ได้ปณิธานไว้ว่า  จะช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ในชนบทน่ะครับ 
ในระยะแรกก็ได้นำพาแม่บ้านที่เป็นลูกศิษย์ประมาณ  30  คน  ออกไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ 
เงินก้อนแรกได้มาจากการที่แม่บ้านกลุ่มนี้หยอดเงินลงในกระปุกไม้ไผ่ 
เมื่อรวบรวมเงินได้ก็เอาเงินไปช่วยเหลือผู้ยากไร้  จากนั้นก็ได้ขยายงานออกไปเรื่อย ๆ 
และมีผู้เข้าร่วมปณิธานมากขึ้น ๆ จากวันนั้น   ถึงวันนี้ผ่านมา 40 กว่าปีแล้ว
กิจการของมูลนิธีเจริญก้าวหน้ายิ่งใหญ่
อย่างไม่น่าเชื่อครับ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่แบบโรงพยาบาลจุฬาฯ ของเรา    
ประมาณ 6-7 โรงนะครับ  แล้วก็มีโรงเรียนที่ท่านสร้างขึ้นมากกว่า 30 โรงครับ


พระมหาจำลอง : เจริญพร  คือจุดเริ่มต้นของการเริ่มงานเกิดจากการที่
ได้เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์
ในประเทศไต้หวันเองเราก็คิดว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะเจริญในเรื่องของวัตถุ 
แต่ในความเป็นจริงยังมีคนจนและคนที่มีความทุกข์อยู่อีกมาก 
ทีนี้ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือ  ซึ่งคุณหมอ  จะเห็นว่าใน  
ฝ่ายมหายานก็จะมีความโดดเด่นในเรื่องของการเน้นโพธสัตวธรรม โพธิ   สัตวจรรยา 
พระโพธิสัตว์จะทนดูอยู่ไม่ได้เมื่อเห็นชาวโลกมีความทุกข์ 
ในภาษาที่เราได้ฟังประจำก็คือว่าพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
จะมีพระเนตรหลายดวงหรือว่าทนอยู่ไม่ได้  เมื่อเห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์
ก็จะทำให้ต้องออกมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  ทีนี้ท่านภิกษุณี เจิ้นเอี๋ยน
ก็ได้เริ่มต้นจากการ   หยอดเมล็ดพันธุ์ในกระปุกที่เป็นไม้ไผ่  เจริญพร 
ทีนี้มูลนิธิฉือจี้เนี่ย ใน   ภาพรวมนี่เป็นองค์กรการกุศลหรือว่าเป็นการสังคมสงเคราะห์หรือมี   รูปแบบการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์รูปแบบใดบ้าง เจริญพร



นพ.สมบูรณ์ : มูลนิธิพุทธฉือจี้ตอนจดทะเบียนนี่ ระบุว่ามีภารกิจที่จะทำแปดอย่างด้วยกัน   
เป็นเรื่องการกุศล คือ การไปช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก 
การรักษาพยาบาล   ช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วย 
เรื่องของจริยธรรม เรื่องการศึกษา
เรื่องสิ่งแวดล้อม  
และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรื่องการจัดการขยะ
แล้วก็เรื่องไขกระดูก   โดยทำเป็นธนาคารไขกระดูกที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกนะครับ    
แล้วก็เรื่องการบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ  เวลามีอุบัติภัยทางธรรมชาติ    
เช่น  แผ่นดินไหว สึนามิ  ชาวฉือจี้ทั่วโลกก็จะระดมเงินบริจาค ระดมคนไป   ช่วยเหลือกันนะครับ  เป็นที่ยอมรับของสหประชาชาติ ภารกิจทั้งหมดก็มี    แล้วก็อาสาสมัครชุมชนอีกเรื่องหนึ่ง  ก็เป็นแปดภารกิจของมูลนิธิฉือจี้ครับ



พระมหาจำลอง : เจริญพร  เท่าที่ฟังคุณหมอกล่าวมานี้เป็นงานที่ค่อนข้างจะหลากหลาย
เกือบครอบคลุมการช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นการสงเคราะห์ผู้ยากไร้  
และที่สำคัญ เจริญพร ที่ตรงกับสายงานของคุณหมอโดยตรงก็คืองานโรงพยาบาล    
เท่าที่เห็น คุณหมอคิดว่ามูลนิธิพุทธฉือจี้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการรักษาโรค 
เหมือนหรือแตกต่างจากองค์กรโดยทั่วไปหรือไม่ อย่างไร
คุณหมอเห็นความมหัศจรรย์ตรงนี้อย่างไรบ้าง เจริญพร




นพ.สมบูรณ์ : ผมเอง ในชีวิตราชการได้มีโอกาสไปดูงานโรงพยาบาลของ
ชาวคริสต์หลายประเทศนะครับ ในประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน
องค์กรของชาวคริสต์นี่จะมีโรงพยาบาลและโรงเรียน  
ที่ตอบสนองต่อคำสอนทางศาสนานะครับ
ทำให้สามารถไปดูแลประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากมากมายนะครับ 
ทำให้ศาสนาคริศต์   โดดเด่น 
ทำให้คนเข้ามาทำงานเพื่อศาสนากันมาก 


                แต่องค์กรทางพุทธเรา   ค่อนข้างจะมีเรื่องเหล่านี้น้อยนะครับ 
ผมเองได้อ่านหนังสือของชาวฉือจี้ที่ไต้หวัน
ก็รู้สึกสะเทือนใจและประทับใจว่าในโลกนี้ยังมีชาวพุทธที่ทำงานเรื่องนี้อยู่
ก็เลยได้ไปดูงาน
ก็ได้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของการทำงานของเขา   
ทุกอย่างทุกขั้นตอน มีความพิถีพิถัน ดูแลคน นี่ดูแลอย่างครบถ้วน ดูแลเป็นองค์รวม
ทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณครับ



พระมหาจำลอง : อันหนึ่งก็มาจากพื้นฐานคือต้องสร้างความรักในเพื่อนมนุษย์ 
และที่สำคัญก็   คือว่าจะต้องเสียสละมาก เมื่อเราทำลายความเห็นแก่ตัวลงไปแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าเราจะรักเพื่อนมนุษย์อย่างไม่มีขอบเขต
ที่คุณหมอพบคือการบำเพ็ญประโยชน์หรือการช่วยเหลือที่ไม่รังเกียจรังงอนผู้ป่วย
พูดง่าย ๆ ว่าช่วยอย่างเต็มที่



นพ.สมบูรณ์ : ครับ  เหมือนครอบครัวเดียวกันเหมือนญาติ



พระมหาจำลอง : การช่วยเหลือแบบเป็นครอบครัวเดียวกันที่คุณหมอไปเห็นแล้วเกิดความ  
ประทับใจ เป็นเอกลักษณ์ของการทำงานตรงนี้ด้วย 
คือไม่มีการแบ่งแยก     เรารักเขาเหมือนกับเขาเป็นครอบครัวของเรา
ตรงนี้ถือเป็นหลักการของ   ชาวพุทธฉือจี้เลยใช่ไหม



นพ.สมบูรณ์ :
อันนี้เป็นอะไรที่สร้างความสะเทือนใจและความประทับใจให้แก่คนที่ไปดูงานแทบทุกคนเลย
เขาทำเรื่องนี้ละเอียดมากเลยครับ  ผมรู้สึกว่าอยากจะให้มีอย่างนี้บ้างในประเทศไทยนะครับ
มันจะเกิดผลกระทบต่อไปถึงประชาชน    ทำให้เกิดความสุขอะไรมากขึ้นกว่าทุกวันนี้ครับ



พระมหาจำลอง : จากการที่คุณหมอได้วิเคราะห์ถึงความแตกต่างระหว่างองค์กรทางศาสนา  
จะเห็นว่า องค์กรของพี่น้องชาวคริสต์นั้นโดยพื้นฐานแล้ว
จะเป็นองค์กรใหญ่    มีทุนทรัพย์ มีอำนาจโดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า   ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือโรงเรียนแบบคริสต์
ก็จะมีลักษณะโดดเด่นกว่า   โรงเรียนวัดของชาวพุทธ  แล้วคนก็นิยมส่งลูกหลานไปเรียน 
ในเรื่องของ   โรงพยาบาลก็เช่นเดียวกัน 
คุณหมอเห็นว่าการที่มูลนิธิพุทธฉือจี้นี่ได้ทำงานในเชิงพุทธ เอกลักษณ์ของพุทธต้องอาศัยใจ
พูดง่าย ๆ ว่าใช้ใจให้เต็มร้อยทั้ง   ในการบริหารงาน การดำเนินงาน  การระดมทุน
คุณหมอคิดว่านอกจาก   บุญกุศลในภาษาพุทธของเราอันเกิดจากบุญบารมีของภิกษุณีท่านนี้แล้ว
ก็ เกิดจากชาวพุทธเราที่มีพื้นฐานที่เป็นคนใจบุญอยู่ด้วย 
ตรงนี้จะเป็นฐานที่   สำคัญ หรือมีความแตกต่างอย่างไรกับองค์กรระหว่างศาสนาบ้าง เจริญพร





นพ.สมบูรณ์ : ในส่วนของพุทธฉือจี้ เรื่องที่เด่นมาก คือ เรื่องของการมอบความรัก 
ซึ่งผม   เองก็ได้นำมาใช้ในโรงพยาบาลนะครับ  โดยได้นำทีมบุคลากรและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ออกไปดูแลผู้ยากไร้  เป็นครอบครัวบุญคุณ
ในลักษณะของฉือจี้นะครับ
แล้วก็ชาวฉือจี้ก็ได้มาร่วมกับเราด้วย    
เราได้เห็นความละเอียดอ่อน ในเรื่องการมอบความรักให้แก่ผู้ยากไร้   
อันนี้มันเหมือนกับเราได้นำหลักพรหมวิหาร 4 มาปฏิบัติจริง ๆ
บางทีเรา   อ่าน เราศึกษาธรรมะ เราอาจจะไม่เคยปฏิบัติได้ 
ถ้าเราไม่ลงมือ เราก็ไม่รู้   ว่าเมตตา กรุณา เป็นอย่างไร
แต่ว่าฉือจี้ได้พาเราไปทำเลยว่า มันลำบาก   ขนาดไหน มีอุจจาระ ปัสสาวะ 
มีอะไรที่มันไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เลยแต่   ว่าเราทำแล้ว เรามีความสุข
และอันนี้เป็นความประทับใจที่ได้ร่วมกับงาน   กับทางมูลนิธิพุทธฉือจี้ครับ




พระมหาจำลอง : เจริญพร  ตรงนี้ก็คือจุดเด่นหรือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการศึกษาธรรม
หรือว่าการปฏิบัติธรรม  ก็คือว่า  คนโดยทั่วไปก็จะเรียนธรรมะในเชิงเป็นแนวคิด  
หรือว่าจะเรียนในเชิงทฤษฎี 
แต่ว่าพุทธฉือจี้นี่ได้นำเอาทฤษฎีหรือว่าหลักธรรม   มาสู่ภาคปฏิบัติ
เท่าที่ฟังคุณหมอเล่ามาทั้งหมด  ก็จะเห็นว่าพุทธฉือจี้ก่อให้เกิดการกระทำ
ที่เป็นรูปธรรมเกิดความเด่นชัดมากในเรื่องของการช่วยเหลือ   
อาตมาภาพเคยฟังคุณหมอประเวศ  วะสี  ได้บอกว่า เราเรียนธรรมมะกัน   มากมาย
แต่ว่าสังคมก็ยังมีปัญหาเพราะว่าขาดอยู่อย่างหนึ่ง คุณหมอใช้คำ   ว่า Management หรือการจัดการ
ก็คือว่าไม่ลงมือปฏิบัติเสียที




นพ.สมบูรณ์ : ครับ สิ่งที่ผมกับคณะที่โรงพยาบาลโพธารามได้เรียนรู้จากการได้ทำงาน  
ร่วมกับมูลนิธิพุทธฉือจี้ ก็คือการจัดการการบริหารทีมอาสาสมัครให้ไปร่วมทีมกัน
ไประดมมอบความรักให้กับผู้ยากไร้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราก็เพิ่งเรียนรู้   จากมูลนิธิพุทธฉือจี้ว่า
การจัดการคนที่จะไปช่วยลงมือทำงานเป็นเรื่อง   ละเอียดอ่อนมาก
เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ลึกซึ้ง เช่น เราที่จะไปช่วยคุณยาย   คุณตาที่ลำบากนั้น
บางทีต้องประชุมวางแผนกันเป็นเวลานาน
เพื่อที่จะได้ไปช่วยอย่างตรงจุดที่สุด
ตรงจุดที่เป็นความต้องการมากที่สุด
อันนี้   เป็นจุดเด่นของทางฉือจี้ครับ 
แล้วมันก็จะมีวิธีการจัดการที่ทำให้เรามีกำลังใจ   

คือเวลาปกติเราก็มีการเยี่ยมคนไข้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทำแล้วมันท้อ ทำอยู่   คนเดียว..

แต่นี่ไม่..นี่เราทำแล้วมีกำลังใจ
ซึ่งก็มีการนำธรรมะของท่านธรรมาจารย์   มาสอดแทรกด้วย
นั่นทำให้คิดว่าเราจะต้องทำอะไรให้มันดีกว่านี้
ตรงจุดไหน   ที่ควรทำ 
จุดไหนที่ไม่ควรทำ

เพื่อให้จิตของเราสะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้นนะครับ  

อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้ทำให้เราพัฒนาขึ้นมาได้




พระมหาจำลอง : นี่ก็เป็นการฉายภาพให้เราได้รู้จักกับมูลนิธิพุทธฉือจี้โดยภาพรวม
คุณหมอก็ได้พูดแนะนะมูลนิธิไปแล้ว  แล้วก็ได้พูดถึงแรงบันดาลใจที่คุณหมอได้ไปศึกษางาน
ที่ไต้หวัน แล้วก็ได้แนะนะให้เห็นความมหัศจรรย์ของมูลนิธิฉือจี้  
ว่าเป็นมูลนิธิที่มีผลกระทบต่อสังคมโลก
ตอนนี้อาจารย์เกศินี  ก็ได้เดินทางมาถึงแล้ว ก็จะมารับหน้าที่เป็นพิธีกร   ในช่วงต่อไป เจริญพร


อจ.เกศินี  : นมัสการพระคุณเจ้า  กราบขอบพระคุณที่ท่านได้เมตตามาช่วยขัดตาทัพ    
เนื่องจากรายการของเราเป็นรายการสด  ซึ่งท่านก็ได้ทำหน้าที่ได้อย่างไม่  
ขาดตกบกพร่องเลย ดูเหมือนจะดีกว่าพิธีกรประจำด้วยซ้ำค่ะ (ฮา)


ในช่วงนี้รายการของเรายังได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญอีกท่านหนึ่งค่ะ เป็น  
ผู้ช่วยคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม      อาจารย์วิไล  ตาปะสี 
สวัสดีค่ะ 

ทั้งสองท่านนี้ เรียกว่าเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคย   กับมูลนิธิพุทธฉือจี้ คุยกับคุณหมอก่อนนะคะ 
หลังจากที่คุณหมอเกิดความ   ประทับใจกับแนวคิด วิธีการทำงานและการบริหารจัดการของฉือจี้ที่ไต้หวัน     ดังที่เล่าแล้วเมื่อสักครู่ คุณหมอก็ได้นำมาปรับใช้กับการทำงานในโรงพยาบาล   ในหลาย ๆ ด้าน แล้วก็เข้ามาเป็นอาสาสมัครของฉือจี้อย่างเต็มตัว ทั้งยัง   นำพาให้เกิดอาสาสมัครที่เข้มแข็งมาก รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนในนามของ   ฉือจี้โพธาราม



นพ.สมบูรณ์ :
เราก็คิดว่าเราจะนำความดีที่ได้เห็นที่ไต้หวันมาทำให้เกิดขึ้นในเมืองไทย    
ผมเองก็ได้ปรึกษากับทางอาสาสมัครอาวุโสที่ฉือจี้ประเทศไทยว่า
เราจะทำอย่างไรให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นมาในโพธาราม ราชบุรีได้บ้าง 
เขาก็แนะนำว่าให้   อบรมอาสาสมัคร สร้างอาสาสมัครขึ้นมา
เราก็ได้อบรมอาสาสมัครตั้งแต่   เดือนธันวาคม  ปี 2551  นะครับ ตอนนี้อบรมมาแล้ว 3-4 รุ่นครับ 
มี อาสาสมัครที่เป็นชาวโพธารามประมาณ 70-80 คน แล้วครับตอนนี้



เกศินี  : อาสาสมัครพวกนี้ต้องทำอะไรบ้างคะ



นพ.สมบูรณ์ : สิ่งที่เราไปทำช่วงนี้เรื่องหลัก ๆ ก็คือ การดูแลผู้ยากไร้ในพื้นที่อำเภอโพธาราม    
ซึ่งการที่เราไปดูแลนั้นทำให้เราได้เรียนรู้จาก
งานอาสาสมัครของฉือจี้
เขาพาเราไปทำนะครับ 
เราเองทำไม่เป็น
แต่เราได้เรียนรู้ความละเอียดอ่อนและความ   พิถีพิถัน
เช่น ในการยกของหรือเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์อะไรต่าง ๆ ก็ต้อง   ใช้วิธีส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างยก แล้วก็ต้องมีกระบวนการส่งของอีก คือ ต้องแยกคนออกเป็นสองแถว และส่งแบบสลับฟันปลา อะไร   แบบนี้นะครับ




เกศินี  : คุณหมอเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองบ้างนอกจากการได้เรียนรู้    วิธีการทำงาน



นพ.สมบูรณ์ : ผมเองตอนนี้ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วครับว่า
การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือการศึกษาธรรมะอย่างเดียว
แต่การ   ปฏิบัติธรรมคือการลงมือทำ โดยการไปช่วยเหลือคน
มันเป็นการปฏิบัติที่ช่วยในการบ่มเพาะเมตตาจิตหรือพรหมวิหารขึ้นในใจเรา 
อันที่สอง คือเรารักคนเป็น บางทีเราก็สงสาร เห็นคนเค้ายากลำบากเราก็สงสาร
แต่ว่า   เราไม่รู้จะทำอะไรกับเขา ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร แต่ฉือจี้ส่อนให้เราทำ
  ..ทำอย่างนี้ อย่างนั้นนะคุณหมอ  เอ้า..ไปล้างเท้าให้เขา(ผู้ยากไร้)  พาเขา  
ไปทำความสะอาด ไปล้างส้วม...อะไรแบบนี้




เกศินี  : ตอนนี้คุณหมอคงชินแล้ว แต่ตอนแรกๆ นี่ คุณหมอทำได้ไหมคะ หรือว่า   รู้สึกอย่างไร



นพ.สมบูรณ์ : ผมเป็นหัวหน้าเขา ก็ทำครับ  เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว คนที่ไปด้วยกัน 
เขาก็จะว่าได้ว่า หัวหน้ายังไม่ยอมทำเลย ก็ต้องลงมือทำ  ต้องแสดงก่อนนะครับ    
แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องคือ ผมรู้สึกว่าถูกต้องนะครับ 
ช่วงแรก ๆ เราก็    ตะขิดตะขวงใจ
แต่ว่าเวลาที่กลับบ้านแล้ว  เรามีความสุขว่า 
ในชีวิตนี้เราได้ทำอะไรให้คนอื่น
คือ เรารู้สึกขอบคุณพวกเขา (ผู้ยากไร้)
เพราะมีพวกเขา    จึงทำให้พวกเราได้ทำความดี 
เมื่อมีความดี ก็เกิดความงาม
แล้วก็มีความจริงก็คือมีทุกสิ่งทุกอย่าง
เป็นศัพท์ธรรมะนิดหน่อยที่เค้าว่า ความดี ความงาม    ความจริง
เป็นสิ่งที่ฉือจี้เค้าสอนให้เรานะครับ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอีกอันหนึ่ง   คือเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนครับ
ฉือจี้สอนให้เราเคารพธรรมชาติ


ถ้าเราจะให้ของใคร ถึงแม้เขาจะลำบากกว่าเรา ยากจนกว่า สถานภาพทางสังคม   ต่ำกว่าเรา
แต่เราก็จะให้เขาด้วยความเคารพ อ่อนน้อม
ให้เหมือนกับเราประเคนของให้พระ
เพราะว่าเขาเป็นผู้มีบุญคุณกับเรา
ทำให้เราได้ทำบุญ     ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่ได้ทำบุญ  เราเป็นหนี้บุญคุณเขา
ถ้าเรารู้สึกได้อย่างนี้   อย่างแท้จริง มันก็จะอัตโนมัติ
การพูดจาหรือพฤติกรรมของเรามันจะอ่อนลงมา อ่อนโยน อ่อนน้อม


อีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่เราจะไปช่วยคนนี่ 
ถ้าเราไม่รู้จักวิธีการก็ลำบากครับ    เช่น ถ้าเราไปคนเดียว ทำให้เขาไม่ได้หรอก มันรับผิดชอบไม่ไหว
และก็    ท้อแท้  แต่ฉือจี้จะไปด้วยกัน ยี่สิบสามสิบคนไปรุมให้ความรักกับผู้ยากไร้   หนึ่งคน
เพราะฉะนั้นทุกคนจะสนุกสนานก็ในการทำงานทำเสร็จภายใน   หนึ่งวัน กลับมาบ้านแล้วจะได้เห็นว่า
เราได้เปลี่ยนแปลงอะไรเขาบ้าง เกิด   ความสุข
คือ การช่วยคนนั้นต้องมีปัญญาด้วย ช่วยอย่างมีปัญญา
ไม่ใช่แค่   อยู่ ๆ ก็เอาเงินไปให้ มันไม่ได้ช่วยอะไรเลยแบบนั้น




เกศินี  : ดิฉันฟังคุณหมอพูดแล้ว เห็นภาพชัดเจนเลย  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะเพื่อน ๆ   
หนึ่งซึ่งกลับจากการดูงานมาแล้ว จะมาสร้างสานงานอาสาสมัครจนเกิดเป็น   รูปร่าง
เป็นองค์กรหรือเครือข่ายที่ชัดเจนและเข้มแข็ง

อาจารย์วิไลล่ะคะ     อาจารย์ไปสัมผัสกับฉือจี้ที่ไต้หวันมาแล้วคิดว่าจะมาทำอะไรต่อที่
มหาวิทยาลัย   กับคณะ หรือกับนักศึกษาพยาบาล


อ.วิไล  : คิดว่าที่จะเอากลับมาใช้กับเด็กและตอนนี้กำลังเริ่มทำแล้ว
คือ การทำให้   นักศึกษาพยาบาลของเราเป็น พยาบาลที่มีเมตตาและเอื้ออาทร 
ถ้าเรา   สามารถทำให้ลูกศิษย์ของเราเป็นผู้ที่มีจิตเมตตา มีความเอื้ออาทรต่อคนไข้   
เราจะได้พยาบาลที่ดีหรือ  “โพธิสัตว์เสื้อกาวน์” 
ดิฉันจึงได้กลับมาทำ   โครงการจิตอาสา ให้เขาได้คิดเองว่าเขาอย่าจิตอาสาเรื่องอะไร อย่างไร
โดย   ที่เราเล่าให้ฟังว่าที่นั่น (ฉือจี้ ไต้หวัน) ทำอะไร แต่ก็ได้คุยกับเด็กนะคะว่า   
อยากบ่มเพาะสิ่งดี ๆ   ในใจโดยเริ่มจากการเผื่อแผ่ความรักให้กับคนใกล้ชิด
คนที่เขารักเรามากที่สุดก่อน ก็เลยบอกให้เขากลับไปดูแลคุณพ่อ    คุณแม่ในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม ไปตัดเล็บมือ  เล็บเท้า ตัดผม ซัก   เสื้อผ้า ทำอะไรก็ได้ที่เป็นงานบริการให้คุณพ่อ คุณแม่ก่อน  แล้วให้เขา   กลับมาเล่าความรู้สึกให้ฟัง
แล้วเราก็พบว่า เด็กหลายคนทั้งชีวิตไม่เคย   ทำเลย 
พ่อน้ำตาร่วงต่อหน้า เขาบอกว่าพ่อนี่น้ำตาหยดต่อหน้าเขาเลย   
พ่อบอกว่าไม่คิดว่าลูกจะตัดเล็บเท้าให้  คือ  คนไทยเราถือว่าเท้าเป็นสิ่ง   ต่ำนะ
แล้วลูกมาล้างเท้ามาตัดเล็บให้อะไรแบบนี้  เขาบอกว่ามันเป็น   ความรู้สึกที่ตื้นตันอยู่ในใจ 
อันนี้เป็นโครงการหนึ่ง 
อีกโครงการหนึ่ง  คือ     เด็ก ๆ บอกอยากไปดูแลผู้สูงอายุที่สถานสงเคราะห์คนชราซึ่งเราจะทำกัน  
จริง ๆ ก็ คือวันที่ 7 ที 8  สิงหาคมที่จะถึงนี้ค่ะ  ก็เลือกที่สถานสงเคราะห์ คนชราหลวงพ่อเปิ่น 
ที่นั่นมีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เยอะมาก  แล้ว  
ก็ยังต้องการความช่วยเหลือในการดูแล 
ก่อนหน้านี้เราเคยพานักศึกษาสาธารณสุขชุมชนไป 
แต่ว่ามันก็เป็นช่วยสั้น ๆ 
เด็กพยาบาลเองก็คงลงได้   ครั้งละประมาณครึ่งวันค่ะ 
ซึ่งก็จะได้ทำอะไรหลาย ๆ  อย่าง  เช่น ตัดเล็บ    อาบน้ำ  สระผมให้กับ
ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 
จริง ๆ แล้วที่นั่นก็มี   เจ้าหน้าที่ดูแลนะ 
แต่มีน้อยกว่าผู้สูงอายุ  อันเราก็เชื่อว่าเด็กจะทำได้ดีเต็มศักยภาพของเขา  เพราะเข้าไปด้วยใจ 
เสร็จแล้วก็จะไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ




เกศินี  : (หันมาถามคุณหมอ) 
มีบ้างไหมคะผู้ป่วยที่ไม่มีญาติในโรงพยาบาลโพธาราม
จะได้พาเด็กนักศึกษาพยาบาลของเราไปเยี่ยม




นพ.สมบูรณ์ : มีครับมี  บางคนก็ญาติเอามาไว้แล้วก็ไป  ไปแบบลืมไว้เลย 
บางทีเขา    อาจจะมีภาระเรื่องทำมาหากินก็ได้  จึงเอามาฝากให้หมอดูแล



เกศินี  : คุณหมอคะ  ที่ อ.วิไล  พูดมาเมื่อครู่นี้เป็นโครงการขัดเกลาจิตใจให้กับ   
นักศึกษาคณะพยาบาล  และนักศึกษาสาธารณสุขชุมชน  ทีนี้ถ้าเราจะพัฒนาให้
โครงการนี้เป็นกระบวนการที่ทำงานในรูปแบบเดียวกับฉือจี้หรือ   เป็นอาสาสมัครของฉือจี้ด้วย 
เพื่อว่าจะได้เรียนรู้ความละเมียดละไม ความอ่อนโยน เมตตาธรรม
หรืออะไรอีกหลายอย่างที่คุณหมอเองก็พบว่า บางอย่างเราก็ไม่รู้นะ
ทีนี้เราจะมีวิธีการเริ่มต้นอย่างไรคะ
ถ้าอาจารย์วิไลจะไปสร้างอาสาสมัครในมหาวิทยาลัยนครปฐมบ้าง ควรเริ่มตรงไหน อย่างไร


นพ.สมบูรณ์ :
อันดับแรก คงต้องขออนุญาตใช้คำของทางสายมหายานว่า
จะต้องเทน้ำชา ออกจากถ้วยให้หมดก่อน
เพื่อเปิดสมองให้กว้าง แล้วก็เทน้ำใหม่ลงไปนะครับ
นั่นคือ ขอให้เราเรียนรู้จากเขาอย่างเดียวก่อน
เป็นนักเรียนน้อยไปก่อนนะ ไปดู ไปเห็น ไปเรียนรู้
เขาจะสอนเราแทบทุกอย่าง สอนวิธีการกิน   ข้าว สอนวิธีนั่ง เวลานั่งจะต้องนั่งเรียบร้อย
เวลากินต้องไม่พูดคุยอะไรอย่างนี้
สอนมารยาทด้วยครับ เราก็ทำตามเขาไป เราเป็นนักเรียนน้อย 
เราต้องเทน้ำชาออกให้หมด เขาสอนให้ทำอะไรก็ทำหมดเลย

ผมเป็นรองผู้อำนวยการ   ผมก็ทำตาม เขาบอกให้คุณหมอไปล้างส้วม
เอ้า!  ล้างก็ล้าง หลักสูตรของเขานี่ เค้าก็จะปล่อยความรู้ออกมาเป็นฉาก ๆ
เรียกว่าเรียนรู้จากการปฏิบัติ
อย่างที่อาจารย์เล่าให้ฟังนะครับว่าให้นักศึกษาไปล้างเท้าคุณพ่อ   คุณแม่
กลับมาก็เกิดความประทับใจน้ำตาไหลอะไรอย่างนี้
คุณพ่อน้ำตาไหล   ทางฉือจี้เค้าทำเรื่องนี้เยอะนะครับ
ที่โพธารามก็ทำบันทึกวีดีโอด้วยไปฉายทั่วประเทศ
ผมเองในตอนนี้คงจะเล่าไม่ได้หมด
แต่ว่าอาจจะเป็นแนวทาง   ต่อไปว่าเราเอาแนวทางของฉือจี้มาดูว่า
เขาสอนความกตัญญูอย่างไรอย่างเช่น  
ถ้าเราไปดูโรงเรียนฉือจี้ 
เขาจะจับเด็กมาตั้งท้อง เคย เห็นนะครับเอาลูกโป่ง   เอามายัดท้องให้เด็กอุ้มท้องทั้งวันเลย 
เด็กก็จะรำคาญเมื่อไหร่จะเอาออก   ซะที  ก็ต้องสอนว่าเนี่ยแม่อุ้มท้องหนูตั้งเก้าเดือน
นี่ยังไม่ถึงวันเลย  แล้วเธอ   จะเอาออกแล้วหรือ
อันนี้เป็นกระบวนการที่เขาจัดการซึ่งทางโพธารามเอง     ตอนนี้อยู่ในระหว่างการเรียนรู้นะครับ ผมยินดีที่ได้เรียนรู้นะก็ใช้กระบวนการ   อ่อนน้อมถ่อมตนแล้วก็เทน้ำชาออกให้หมด



เกศินี  : แสดงว่ากระบวนการอบรมอาสาสมัครของฉือจี้  ไม่ได้สิ้นสุดแค่ 4-5 วัน    ไม่ใช่เลยใช่ไหมคะ



นพ.สมบูรณ์ :
มันเป็น on the job training เลยนะครับ
อย่างวันนี้พาไปเยี่ยม case หนึ่ง    เป็น case ใหม่
เขาก็จะสอนว่าการไปเยี่ยม case ต้องดูอะไรบ้าง ข้อโน้น    ข้อนี้
อันไหนห้ามทำ อันไหนควรทำ ซึ่งถ้าเราไม่ไปกับเขา ไม่ได้ทำด้วยตนเอง  
ก็จะไม่ได้เรียนรู้ แต่ว่าการจะนำพาคนอื่น ๆ ไปด้วย  นี่มันเป็นเรื่องยาก   เพราะว่ามันลำบากครับ
ต้องไปล้างส้วม ไปทำงานอะไรหลายอย่างที่คน   ทั่วไปไม่มีใครอยากทำ 
ดังนั้นการเป็นนักเรียนน้อย  คือการไปเรียนรู้ว่า  
ความสุขของการช่วยเหลือคนมันคืออะไร  มันทำให้คนได้สัมผัสความรัก
สิ่งที่เรียกว่าเป็นความรักของชาวฉือจี้
ความรักของพระพุทธเจ้า หรือ พรหมวิหาร 4




เกศินี  :
พรหมวิหาร 4  ก็คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา  ในสังคมที่ร้อนระอุทุก  
วันนี้ เรามาช่วยกันบ่มเพาะความรักและพรหมวิหารสี่ ให้งอกงามกันดีกว่า   นะคะ
เสียดายค่ะที่เวลาในช่วงของสืบสานสาระธรรมได้หมดลงแล้ว
ถ้ามี โอกาสดิฉันคิดว่าจะขออนุญาตเรียนเชิญอาจารย์หมอและอาจารย์วิไลมาพูดคุย กับพวกเราอีกครั้งในเรื่องของพุทธฉือจี้ การให้ความรักและการแปรเปลี่ยน   ความรักให้เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างที่สุดด้วยการได้ช่วยเหลือคนนี่แหละค่ะ   คือการเป็นโพธิสัตว์ ....เป็นโพธิสัตว์ที่มีชีวิตด้วยนะคะ ในช่วงนี้ก็คงจะต้อง   สวัสดีและล่ำลากันตรงนี้ กราบขอบพระคุณคุณหมอและอาจารย์วิไลไว้  ณ     โอกาสนี้ค่ะ



อตฺตานญฺเจ  ตถา กยิรา
ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต  วต  ทเมถ
อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม.
..................................................................
Even as he instructs others,
Even so he should himself act.
He himself fully trained should train others.
Oneself is, indeed, difficult to train.
.................................................................................
บุคคลสอนผู้อื่นอย่างไร
ก็ควรทำตนอย่างนั้น
ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึก (ผู้อื่น)
เพราะตนเองฝึกตนเองได้ยากยิ่ง


(ได้รับความอนุเคราะห์ จากคุณปัทมา แซ่จี๊  พิมพ์ให้   อนุโมทนาครับ)


วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ออกหน่วยแพทย์ TIMA แหลมฉบัง

มีออกหน่วยแพทย์ TIMA แหลมฉบัง
วันที่ 7 สิงหาคม 2553
ผู้สนใจไปติดต่อคุณสุพัตรา แตงฮ้อ

รายการธรรมกถา ร่วมคืนพื้นที่บุญให้สังคมไทย : กรณีศึกษาการจัดการความดีของฉือจี้

มีรายการดีๆ เกี่ยวกับ ฉือจี้ ที่อยากจะแจ้งให่คนทั่วไปทราบ
ในวันที่ ๑ สค ๒๕๕๓ วันอาทิตย์ เวลาประมาณ ๑๐ โมง ที่สวนโมกข์ กทม (ที่สวนจตุจักร)
มีการบรรยายเรื่อง รายการธรรมกถา ร่วมคืนพื้นที่บุญให้สังคมไทย : กรณีศึกษาการจัดการความดีของฉือจี้ ไต้หวัน โดย
ศ ประเวศ วะสี และ พระไพศาล วิสาโล วักป่าสุขโต
เริ่มรายการ ๘ โมงเช้ามีใส่บาตร
ขอเชิญผู้สนใจเข้าฟัง ตามสะดวก
นพ.สมบูรณ์ ผู้ออกข่าว
ปล
หอจดหมายเหตุพุทธทาส
http://www.bia.or.th/aboutus.php

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระดม "พระโพธิสัตว์น้อย"จำนวนมาก ไปช่วยดูแลป้าน้อย









ชาวฉือจี้ โพธาราม จัดกิจกรรม
ระดม "พระโพธิสัตว์น้อย"จำนวนมาก ไปช่วยดูแลป้าน้อย
(ป้ากิมฮวย บุญเกตุ) ณ โรงครัวที่ทิ้งร้าง วัดโพธิ์ไพโรจน์ ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2553 เวลาประมาณ 10.00 น.

ป้าน้อย อายุประมาณ 75-80 ปี
ไม่มีญาตดูแล
ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีทะเบียนบ้าน
ไม่มีสิทธิตามกฎหมายอะไรทั้งนั้น
อยู่ที่โรงครัว วัดโพธิ์ไพโรจน์ ที่ทิ้งร้างแล้ว มานานมาก นับสิบปี
ไม่มีใครสามารถบอกว่า มาอยู่ตั้งแตเมื่อไร

อาศัยอาหารก้นบาตรพระ
และมีคนเอามาให้ครั้งคราว
ขาขาดจาก อะไรก็ยังไม่ทราบ
แขนพิการมานานแล้ว

อาสาสมัครฉือจี้ไปเห็นแล้ว ก็สงสารอยากรับเป็นครอบครัวบุญคุณ
24กรกฎาคม 2553
เป็นโอกาสทองของชาวฉือจี้อีกแล้วที่จะมีโอกาสทำบุญ
อย่าพลาดนะครับ


หมายเหตุ
1.รูปที่เสนอนี้เป็นรูปที่พวกเราไปเยี่ยมครังแรก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2553
2.พระโพธิสัตว์น้อย หมายถึง พวกเราชาวอาสาสมัครฉือจี้ทั้งหลาย ถ้ารวมพลังกันถึง 500 คน ก็จะมีมือถึง หนึ่งพันมือ อาจมีพลังเท่ากับ กวนอิมโพธิสัตว์(พระโพธิสัตว์ใหญ่)

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อาราธนา”เจ้าแม่กวนอิม ๑ องค์”มาประทับที่ราชบุรีในปี ๒๕๕๔






การพัฒนาระบบงานอาสาสมัครแนวทาง ฉือจี้ในจังหวัดราชบุรี
อาราธนา”เจ้าแม่กวนอิม ๑ องค์”มาประทับที่ราชบุรีในปี ๒๕๕๔
โดย นพ.สมบูรณ์ นันทานิช
รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.โพธาราม จ.ราชบุรี ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓
ข้าพเจ้าสนใจ ในเรื่องกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมมานานแล้ว โดยเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมจริยธรรม รพ.โพธารามมา กว่า ๑๐ ปี ปัจจุบันเป็นประธานชมรมจริยธรรม รพ.โพธาราม ข้าพเจ้ามีบุญวาสนาได้อ่านหนังสือธรรมและฟังธรรมของพระพุทธเจ้ามามากพอสมควรครั้งหนึ่งได้อ่านเรื่องกิจกรรมของมูลนิธิพุทธฉือจี้ประเทศไต้หวัน อ่านแล้วเกิดความรู้สึกสะเทือนใจว่า ยังมีชาวพุทธที่ “ทำถึงขนาดนี้เชียวหรือ” อยู่ในโลก ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสจะเดินทางไปดูว่าเป็นจริงตามที่เขียนไว้หรือไม่
ด้วยบุญวาสนาอีกเช่นกัน หลังจากอ่านหนังสือนั้นได้ไม่ถึงปี ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสไปไต้หวันเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ไปในฐานะอาสาสมัครอาสาสมัครฉือจี้ (เข้าใจว่า เป็นคนแรกของราชบุรี) แต่งชุดเสื้อเทากางเกงขาว ไปไม่ใช่ในฐานะคนภายนอกที่ไปดูงานอย่างที่คนอื่นๆเขาไปกัน นายแพทย์บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และนายแพทย์บุญสืบ ลีนิวา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธารามสมัยนั้น เป็นผู้ที่ “ส่ง” และฝากข้าพเจ้ากับคุณสุชน แซ่เฮงและคุณเมตตา แซ่ชิว ให้พาข้าพเจ้าไป และขอให้ได้มีโอกาสได้เข้าพบท่านธรรมมาจารย์ และให้ได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้วย

ครั้งนั้นข้าพเจ้าพร้อมคณะได้ไปดูกิจกรรมต่างๆของชาวฉือจี้ ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย สถานีแยกขยะ มหาวิทยาลัยฉือจี้คณะแพทย์ศาสตร์ฉือจี้ โรงเรียนมัธยมและโรงเรียนประถม ศูนย์วัฒนธรรมจิ้งซือ สุดท้ายได้ไปที่สมณารามที่พำนักของท่านพระภิกษุณีธรรมมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน มีวาสนาได้เข้าพบท่าน ได้เห็นบุคคลที่มีเมตตาบารมีสูงส่ง มีบุคคลิกภาพที่งดงาม มีผลงานที่ยิ่งใหญ่ น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งหมดนี้สมกับที่ได้ตั้งใจไว้ก่อนเดินทางมาไต้หวัน ระหว่างเดินทางกลับมาประเทศไทยก็ได้พูดคุยหารือกับคุณเมตตา แซ่ชิวและคุณสุชน แซ่เฮงถึงแผนการที่จะนำแนวคิดที่ได้จากการเยี่ยมชมกิจกรรมฉือจี้ที่ไต้หวัน มาดำเนินการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในประเทศไทย

คุณเมตตา แซ่ชิวและคุณสุชน แซ่เฮงได้แนะนำเรื่องการอบรมอาสาสมัครแบบฉือจี้เป็นจุดเริ่มต้น ส่วนกิจกรรมด้านต่างๆก็จะตามมาทีหลัง ข้าพเจ้าได้ปรึกษาทีมงานชมรมจริยธรรม โรงพยาบาลโพธาราม พวกเราเมื่อได้ทราบก็มีความสนใจเรื่องนี้มาก เป็นเรื่องความดีความงามที่ออกเป็นรูปธรรม ส่งผลต่อประชาชนและสังคมในวงกว้าง ซึ่งพวกเราไม่เคยคิดทำกันมาก่อน เคยทำก็อยู่ในกรอบการฝึกอบรมสมาธิวิปัสสนาซึ่งเป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้น งานของฉือจี้ก็เป็นอีกมิติหนึ่ง เรียกว่าปฏิบัติธรรมโดยการช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสังคม ฝึกโดยให้คนอื่นเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผลสะท้อนกลับมาทำให้จิตใจเราอ่อนโยน เมื่อรักและเมตตาคนอื่นได้ คือรักเป็นแล้ว ก็จะสามารถรักครอบครัว รักพ่อแม่เป็น จิตใจของพวกเราก็จะ บริสุทธิมากยิ่งขึ้น เพราะทำแต่ความดีให้คนอื่น
พวกเรา(หมายถึงชมรมจริยธรรม โรงพยาบาลโพธารามและคณะวิทยากรจากมูลนิธิพุทธฉือจี้ในประเทศไทย)ได้จัดการฝึกอบรมอาสาสมัครฉือจี้ สำหรับคนไทยเป็นรุ่นแรกโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี นายแพทย์บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ ที่ จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ได้อาสาสมัครฉือจี้ใหม่กว่า 40 ท่านซึ่งมาจากชาวราชบุรี และชาวตำบลห้วยสัก อ.เมือง จังหวัดเชียงราย

ในกลุ่มอาสาสมัครรุ่นนี้มี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธาราม นพ.วันชัย ล้อกาญจนรัตน์ ข้าพเจ้า คุณสมจิตร ศักดิ์สิทธิกร หัวหน้าพยาบาล คุณนุชนารถ คงขำ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้วย วันสุดท้ายก่อนปิดการประชุม มีการให้กล่าวปณิธานของแต่ละคนว่าจะทำอะไรต่อไป เป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจมาก น่าจะบันทึกเทปแล้วถอดรวมเล่มไว้เผยแพร่ ชาวอาสาสมัครฉือจี้รุ่นก่อนๆทุกคนฟังแล้วดีใจ น้ำตาไหล แต่ขณะนั้นพวกเราทุกคนก็ไม่ทราบว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นในอีก ๑ ปีต่อมา

เดือนมกราคม ๒๕๕๒ เมื่อกลับมาพวกเราได้ประชุม ให้อาสาสมัครฉือจี้ที่โพธาราม เสนอครอบครัวผู้ยากไร้ที่พวกเราทราบในเขตอำเภอโพธาราม มาให้กลุ่มพวกเราพิจารณา จัดเรียงลำดับความเร่งด่วนว่า ใครลำบากมากที่สุด จากนั้นเสนอคณะกรรมการมูลนิธิพุทธฉือจี้เพื่อพิจารณารับเป็นครอบครัวบุญคุณ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๒ นี้ถือเป็นเดือนที่ชาวฉือจี้จาก กทม ตื่นเต้นมาก สังเกตุได้จากการที่มีอาสาสมัครอาวุโสกันมามาก เกือบทั้งมูลนิธิก็ว่าได้ มาตรวจ Case มาทำพิธีรับกระปุกออมบุญจากสมาชิกที่โพธาราม มีการถ่ายรูปประวัติศาสตร์การเริ่มต้นกิจกรรมฉือจี้ เดือนต่อมา (เดือนกุมภาพันธ์)คณะกรรมการมูลนิธิพุทธฉือจี้ก็มีมติรับ Case ทั้งหมดที่เราเสนอ และเป็นที่น่าเสียใจว่า Case ที่ลำบากมากอันดับหนึ่งได้ถึงแก่กรรมก่อนหน้าการพิจารณารับไม่นาน อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า การช่วยคนนั้นรอไม่ได้ ต้องทำทันที
คุณเมตตา แซ่ชิวและคุณสุชน แซ่เฮงและคณะจากกทมได้มานำอาสาสมัครฉือจี้ที่โพธาราม ออกดูแลครอบครัวบุญคุณ ๑๐ คน ใน ๗ ครอบครัว ในเขตอำเภอโพธาราม ครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ.2552 ทุกเดือนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ระหว่างนี้ได้สอนพวกเรา อาสาสมัครฉือจี้ที่โพธาราม ให้รู้จักวิธีการดูแลครอบครัวบุญคุณแบบฉือจี้ โดยได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จากนั้นให้เราทำตามไปด้วยกัน ถ้าใครไม่เคยทำงานแบบนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าก็จะไม่สามารถเข้าใจเรื่องการส่งมอบความรักจากอาสาสมัครฉือจี้สู่ครอบครัวผู้ยากไร้ได้ ระหว่างการทำงานก็จะมีการสอนวาทะธรรมของท่านธรรมมาจารย์ ถึงปัญหาที่เรากำลังกำลังเผชิญอยู่ว่า เรื่องนี้ท่านสอนว่าอย่างไร เมื่อข้าพเจ้าสัมผัสถึงความรักที่ได้ส่งมอบ ก็ได้นึกไปถึงสุดยอดวาทะธรรมที่มีชื่อเสียงไปทั่ว ที่ว่า

“ใต้หล้านี้ไม่มีใครที่ฉันไม่รัก
ใต้หล้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่เชื่อใจ
ใต้หล้านี้ ไม่มีใครที่ฉันไม่ให้อภัย”
ก็เกิดความรู้สึกขนลุก ว่าท่านธรรมมาจารย์ท่านมีปณิธานจะมอบความรักให้ สรรพสัตว์ทั่วทั้งโลก
คุณบังอร แซ่เฉิน อาสาสมัครฉือจี้อาวุโสมากท่านหนึ่ง ท่านเดินทางมาจากไต้หวัน ได้มาออกเยี่ยมครอบครัวบุญคุณพร้อมกับพวกเราหลายครั้ง ครั้งหนึ่งระหว่างทำความสะอาดคุณยายที่เป็นอัมพฤกษ์ท่านหนึ่ง ซึ่งนอนคาอุจจาระปัสสาวะเต็มเตียง ขณะนั้น ข้าพเจ้ายืนดูข้างๆ ต้องกลั้นหายใจเพราะเหม็นมาก ข้าพเจ้าเป็นหมอ แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จะทำอะไรให้กับยายคนนี้ ทำไม่ถูก คุณบังอรกล่าวว่า “คุณยาย ดิฉันมาจากไต้หวัน นำความรักจากท่านธรรมมาจารย์มามอบให้คุณยาย....” จากนั้นก็สัมผัส ช่วยเหลือ ทำความสะอาด และพูดคุยด้วยความอ่อนโยน ไม่ได้แสดงความรังเกียจ ทั้งทางสีหน้า ท่าทาง ทางวาจา (และใจ) ข้าพเจ้ายืนดูด้วยความสนใจ สังเกตุและจดจำ คุณยายคงนอนแช่อุจจาระปัสสาวะแบบนี้มานานทุกวันจนเคยชิน สีหน้าเฉยๆ แรกๆ ก็ฝืนๆ ไม่ไว้ใจพวกเรา ต่อมาไม่นาน พวกเราก็สามารถอุ้มคุณยายออกมาชำระที่อาบน้ำภายนอกห้องนอน ทำความสะอาด ขัดถูขี้ไคล ที่มีมากมายมหาศาล ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเห็นมากขนาดนี้มาก่อน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสช่วยขัดถูด้วย เมื่อชำระล้างเสร็จสวมชุดใหม่ ปะแป้งแต่งตัวหน้าตายิ้มแย้มผ่องใส มานั่งคุยกับพวกเรา เฮฮา ฟังพวกเราร้องเพลงครอบครัวเดียวกัน อวยพร โอบกอดลาจากกันอย่างมีความสุข แต่ละครอบครัวก็มีปัญหาต่างๆกัน มีการประชุม อภิปรายกันว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างไรจึงจะเหมาะสม กิจกรรมออกเยี่ยมดูแลครอบครัวบุญคุณนี้ ได้รับการตอบรับจากอาสาสมัคร และชาวบ้านเป็นอย่างดีมาก มีคนแปลกหน้ามามุงดูพวกเราทำอะไรกัน เทศบาลแห่งหนึ่งได้จัดงบจ้างคนดูแลคุณลุงฉอ้อนโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นรายที่เรารับเป็นครอบครัวบุญคุณ โดยให้มีหน้าที่ต้องมาดูแลลุงฉอ้อนทุกวัน ลูกคุณยายที่พวกเราดูแล ก็กลับมาหา มาดูแลพ่อแม่ของเขาเช่นที่เห็นพวกเราดูแล มีคนเสนอ Case อีกมากมายมาให้เราดูแลเพิ่มอีก ทำให้เกิดการขยายงานให้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น มีอาสาสมัครใหม่มาเพิ่มขึ้น มีกระปุกออมบุญมากขึ้น พวกเราเกิดความมั่นใจในทิศทางที่เรากำลังทำอยู่ว่าจะเกิดผลสะเทือน ขยายงานต่อไปได้


ในเมื่อเรามีอาสาสมัคร ประมาณ ๓๐ คน สามารถช่วยเหลือคนได้ ๑๐ คน ๗ ครอบครัว และยังมีผู้ที่เดือดร้อนอีกมากมายรอการช่วยเหลือจากเราอยู่ ปณิธานใหม่ก็คือ จะต้องเพิ่มจำนวนอาสาสมัครให้มากขึ้น ท่านธรรมมาจารย์เจิ้นเอี๋ยนเคยกล่าวว่า ถ้าเราสามารถมีจำนวนอาสาสมัครได้ถึง ๕๐๐ คน เท่ากับมีมือ ๑,๐๐๐ มือ เราจะมีจำนวนมือ เท่ากับเจ้าแม่กวนอิมที่มี ๑,๐๐๐ มือ แต่เหนือกว่าคือ ของเรามีชีวิตจริงๆ ๕๐๐ คน เมื่อออกช่วยเหลือคนได้ อาจได้มากเท่าเจ้าแม่กวนอิมจริงๆ คนที่อธิษฐานให้เจ้าแม่กวนอิมช่วยเหลือ ถ้าเราได้ทราบพวกเราทั้ง ๕๐๐ คนก็จะเข้าช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราก็จะสามารถช่วยคนได้ดังที่เราเห็นกันอยู่ตรงหน้า นั่นคืออาจกล่าวในอีกนัยหนึ่งว่า เรามีปณิธานจะอาราธนา เจ้าแม่กวนอิมที่มีชีวิต สามารถช่วยคนได้จริงๆ ๑ องค์ เสด็จมาประทับที่โพธาราม เพื่อช่วยเหลือคนจังหวัดราชบุรี พวกเราอาสาสมัคร ๑ คนถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์น้อยๆที่ยังมีชีวิต ๑ คน แต่เมื่อรวมกัน ๕๐๐ คนอาจเทียบได้กับมีพระโพธิสัตว์ใหญ่ระดับเจ้าแม่กวนอิม(๑,๐๐๐ มือ) ๑ องค์นั่นเอง



ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 พวกเราก็ได้ร่วมจัดการอบรมอาสาสมัครฉือจี้ในประเทศไทยรุ่นที่ 2 ที่ศูนย์ฝึกอบรมบริษัทสินธานี จังหวัดเชียงราย ที่เดิม มีอาสาสมัครใหม่เพิ่มขึ้นอีกว่า 40 ท่าน จากโพธาราม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสงขลา


ครั้งที่ 2 ส่งผลให้เกิดการอบรมครั้งที่ 3 ที่จังหวัดสงขลา ได้อาสาสมัครเพิ่มขึ้นอีกกว่า 80 คน จากอ.โพธาราม อ.เมือง จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดสงขลา เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.2553 ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ ผู้ประสานงานหลักเป็น คณะแพทยศาสตร์ มอ. ไม่ใช่ รพ.โพธาราม

และครั้งต่อไปครั้งที่ 4 ที่จะจัดขึ้นที่ สวนส้มทิพย์รีสอร์ท อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ในวันที่ 1-4 กรกฎาคม พ.ศ.2553 นี้ โรงพยาบาลโพธารามก็จะเป็นผู้ประสานงานหลัก ร่วมกับ โรงพยาบาลวัดเพลง สาธารณสุขอำเภอวัดเพลง สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี คาดว่าจะมี อาสาสมัครเพิ่มอีกราว 80 คน

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิพุทธฉือจี้ ข้าพเจ้าและทีมงานที่โพธารามได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองด้านจิตใจเป็นอย่างมาก พวกเราได้พบกับความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น รู้สึกสะเทือนใจและปลื้มปิติ ที่ได้สัมผัสความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ของท่านธรรมาจารย์เจิ้นเอี๋ยน และของชาวฉือจี้ทั้งหลาย การได้ลงมือปฏิบัติเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ มากกว่าการได้เรียนรู้จากการอ่านหนังสือ หรือฟังคนเล่าให้ฟัง (แต่การเรียนรู้จากการอ่านก็สำคัญ) ตัวอย่างการลงมือปฏิบัติ ได้แก่ การออกเยี่ยมครอบครัวบุญคุณ ได้เห็นด้วยตนเอง ได้สัมผัส ได้ลงมือช่วยเหลือ ตั้งแต่การหยอดกระปุกออมบุญ การไปทำความสะอาดบ้าน ทำความสะอาดตัวบุคคลที่ไปเยี่ยม การให้ธรรมแด่ญาติผู้ป่วย การให้บริการ ผู้ป่วยและญาติที่มาโรงพยาบาล และล่าสุด สดๆร้อนๆ การออกรับการบริจาคเงิน จากคนทั่วไป ในกรณีแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ นับเป็นการช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จักที่เดือดร้อน และอยู่ห่างไกลมาก ขณะที่พวกเรายืนถือกล่องรับบริจาคเงินที่ตลาดสดโพธารามเพื่อไป


ช่วยเหลือชาวเฮติ พวกเรารู้สึกว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีของชาวฉือจี้ทั่วโลก บังเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นชาวฉือจี้ พวกเราได้เปลี่ยนเป็น “ชาวนาบุญ” ที่ขยันขันแข็ง ผู้ที่เดือดร้อนที่เราให้ความช่วยเหลือ เปรียบประดุจเป็น “นาบุญ” เป็นผู้มีพระคุณของเรา เพราะมีเขา พวกเราจึงมีโอกาสได้ทำบุญ ได้ฝึกจิตใจให้มีสมาธิโดยการเดินจงกรม ได้มีโอกาสปฏิบัติการ “ชำระจิตใจ” ให้บริสุทธ์ โดยการออกทำงาน อาสาสมัครช่วยเหลือคน ได้ออกช่วยเหลือสังคมโดยผ่านกระบวนการให้การศึกษาให้เยาวชนโดยทำค่ายเยาวชน ได้ฝึกจิตตนเองให้อ่อนน้อมถ่อมตน ได้ฝึกการเคารพธรรมชาติโดยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฝึกเคารพผู้อื่นทุกคน พิจารณาแล้วแทบไม่ต่างกับการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวดที่มีทำกันในเพศนักบวช ในประเทศไทยหลายสำนักเลย บางเรื่องอาจจะทำได้มากกว่า เป็นระบบกว่า คำสอนของท่านธรรมจารย์เจิ้นเอี๋ยน ซึ่งเป็นพระภิกษุณี สายมหายาน ก็มีเนื้อหาแทบจะไม่แตกต่างจากคำสอนของพระภิกษุในนิกายเถรวาทในประเทศไทยเลย ท่านสอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวงให้อยู่ในศีลอย่างน้อย ๑๐ ข้อ ให้ทำแต่ความดี และปฏิบัติจิตภาวนาให้จิตบริสุทธิ์ ในแนวทางที่ช่วยเหลือสังคม นำคำสอนของพระพุทธเจ้าออกมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ให้อยู่ในคัมภีร์ที่สูงส่งจับต้องไม่ได้ การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ทำได้เฉพาะขณะอยู่ในวัดเท่านั้น บ้านโรงพยาบาล และโรงเรียนก็สามารถแปรให้เป็นสถานธรรมอันยิ่งใหญ่ได้

ชาวจังหวัดราชบุรีนับถือเจ้าแม่กวนอิมไม่ใช่น้อย สังเกตุจากมีคนจำนวนมากที่ขึ้นเขาวัดหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ไปกราบบูชารูปปั้นเจ้าแม่กวนอินที่งดงามมากที่ยอดเขา ตามที่เราเชื่อต่อๆกันมาว่าเมื่อมากราบอธิษฐานท่าน ขอให้ท่านช่วยเรื่องอะไรก็มักจะได้ตามที่ขอทุกประการ นั่นเป็นแค่ความเชื่อของคนที่เล่าต่อกันมา แต่ถ้ามีอาสาสมัครรวมได้ ๕๐๐ คนเป็นของจริงเห็นๆ ตัวเป็นๆ เช่นกลุ่มพวกเรานี้ และสามารถช่วยเหลือคนได้จริงๆอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่อิทธิฤทธ์ปาฏิหารย์ น่าจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อสังคมชาวราชบุรีอย่างมหาศาลทีเดียว.

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทีม อส.ฉือจี้โพธารามไปบรรยายกิจกรรมฉือจี้ ที่ รพ.ราชบุรี






ชมรมจิตอาสา รพ.ราชบุรี ได้เชิญ ทีม ฉือจี้ รพ.โพธาราม
ได้แก่ นพ.สมบูรณ์ นันทานิช คุณ นฤมล คุณธร คุณสุพตรา แตงฮ้อ
ไปบรรยาย เรื่องกิจกรรมฉือจี้ ของ รพ.โพธาราม ให้คณะจิตอาสา รพ.ราชบุรีฟัง
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2553

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

อาสาสมัครฉือจี้โพธารามไปร่วมงานปีใหม่รับอั่งเปาของท่านธรรมมาจารย์ 30-1-2553




เมื่อวันที่ 30-1-2553
อาสาสมัครฉือจี้โพธารามไปร่วมงานปีใหม่รับอั่งเปาของท่านธรรมมาจารย์
ที่ สำนักงานใหญ่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ในประเทศไทย
ถนนรัชดาภิเษก
กทม.

อส.ฉือจี้ โพธาราม ออกรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศ ไฮติ 29-1-2553













ในวันที่ 29 มกราคม 2553
อาสาสมัคร ฉือจี้ เขตโพธาราม
ได้ ถือกล่องรับบริจาคของ มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไทย ออกรับบริจาค ที่ งานหาดทรายโพธารามอีกครั้งหนึ่ง
ได้เงินถึงแปดพันกว่าบาท
รวมทั้งหมด ตั้งแต่ที่มารับบริจาควันแรก 23-1-2010
เป็นเงิน 91,290.25 บาท
ซึ่งจะได้รวบรวมส่ง ผ่านมูลนิธิพุทธฉือจี้ในประเทศไทย นำไปช่วยเหลือชาวไฮติต่อไป

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

อส.ฉือจี้ โพธาราม ออกรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศ ไฮติ 26-1-2553

















เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2553 อาสาสมัครฉือจี้ โพธาราม ได้ ออกถือกล่องรับบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศสาธารณรัฐไฮติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2553 ได้เงินจากผู้มีจิตกุศลบริจาคช่วยเหลือ เป็นเงิน 22,200.75 บาท
และในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2552 อาสาสมัครได้ออก ถือกล่องรับเงินบริจาค รอบเช้าที่ตึกต่างๆของโรงพยาบาลโพธาราม รอบค่ำ(18.00-21.00น.)ที่ งานงิ้วประจำปี หาดทรายโพธาราม ได้เงินมาเป็นจำนวนมากพอสมควร ยังนับไม่เสร็จ นับเป็นการแสดงถึงน้ำใจคนโพธาราม และคนไทยที่มีต่อเพื่อนร่วมโลก แม้อยู่ห่างไกลคนละซีกโลกก็ยังระลึกถึง อาสาสมัครจะยังรับบริจากอีก 3 วัน วันที่ 30 มกราคม จะรวบรวมไปมอบให้มูลนิธิพุทธฉือจี้ในประเทศไทย รวบรวมส่งไปช่วยผู้ประสบภัยต่อไป
มีเรื่องน่าประทับใจ หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ คุณยายอายุมาแล้วนั่งขายผลไม้ เสียงเบาเรียกเรา เราคงไม่ได้ยินเพราะเสียงโฆษกดังมาก ท่านเลยเอาลูกพุทธาที่ขายขว้างใส่กางเกงข้าพเจ้าดังปุ ข้าพเจ้าหันไป ยายก็ยื่นเงินมาให้
ยังมีเรื่อง ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นท่านหนึ่ง เมื่อท่านเห็นเรายืนรับบริจาคอยู่ที่บริเวณสี่แยกที่งาน ท่านได้กรุณา ไปพบโฆษกที่เป็นผู้ประกาศของงานหาดทราย ให้ออกข่าวเดป็นเวลายาวนานถึงกิจกรรมที่เรากำลังทำ และเชิญชวนให้คนมาบริจาค และยังใช้รถจักรยานยนต์ของท่านตามรูปมาประกาศเชิญชวนให้เราตลอดเวลาจนเสียงท่านแหบ ตั้งแต่ราว 19.00 ถึง 21.00 น.เศษเราจึงขอให้ท่านหยุดได้ เพราะพวกเราเหนื่อยจะกลับกันแล้ว ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย กั่งเอิ๊น

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

อส.ฉือจี้ โพธาราม ออกรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศ ไฮติ 23-1-2553











อส.ฉือจี้ โพธาราม ออกรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศ ไฮติ
เมื่อวันที่ 23-1-2553
หลังจากประชุมประจำเดือน พวกเราได้ออกบำเพ็ญประโยชน์ แก่เพื่อนร่วมโลกที่ประสบความทุกข์ยากลำบาก
โดยออกรับบริจาค
เนื่องจากเรายังไม่เคยทำงานนี้มาก่อน
จึงมีการสาธิต การออกไปรับ วิธีการรับ
เป็นที่บันเทิงยิ่งนัก

รายงานกิจกรรมของกลุ่มตะวันออก 1-23-24มีนาคม2553

รายงานกิจกรรมของกลุ่มตะวันออก 1
วันที่ 23-24 ม.ค. 2552

23 ม.ค. 2552: อบรมอาสาสมัครที่ ร.พ.โพธาราม
วาระที่ 1: การอบรม
เป็นลักษณะการพบปะพูดคุยและรวบรวมเงินบริจาคจากกระปุกออมสินไม่ไผ่ โดยอาสาสมัครท่านต่างๆ ได้แบ่งปันกิจกรรมที่ได้ทำมาก่อนหน้าที่จะมาพบกันครั้งนี้
วาระที่ 2: การออกเยี่ยมครอบครัวบุญคุณ และการรับบริจาคช่วยประเทศเฮติ
สืบเนื่องจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ ทางอาสาสมัครฯ จึงกำหนดให้ภาคบ่ายของวันที่ 23 นี้ ดำเนินการแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 สาย โดย 2 สายแรก เดินรับบริจาคบริเวณตลาดและสถานีรถไฟ หน้าโรงพยาบาล ส่วนสายที่ 3 ออกสำรวจเคสใหม่ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วให้มารวมกันเพื่อเดินทางไปเยี่ยมเคสเก่า
ผลของการเดินรับบริจาคได้เงินรวมทั้งสิ้น 22,200.75 บ. ส่วนเคสใหม่ ทางกลุ่มอาสาสมัครฯ จะนำข้อมูลที่ได้มาประชุมพิจารณา เพื่อเสนออนุมัติรับดูแลกับทางมูลนิธิฯ ต่อไป
เมื่อทุกคนกลับมาพร้อมแล้ว อาสาสมัครไม่ติดภาระกิจอื่นๆ ได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมเคสเก่า 2 เคส ได้แก่ ลุงหมิก และ ลุงฉะอ้อน ลุงหมิกมีสภาพปกติเหมือนกับที่เคยมาเยี่ยม แต่เริ่มมีอาการของความชรา คือ มือไม้เริ่มสั่น ส่วนลุงฉะอ้อน สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก มี อสม. มาช่วยดูแล (ทั้งนี้สืบเนื่องจากมูลนิธิฯ เข้าไปดูแล ดึงดูดให้เทศบาลท้องถิ่นมีแรงผลักดันช่วยกันเข้ามาดูแล ชุมชนเกิดมีความเมตตามีมนุษยธรรมต่อกัน)
วาระที่ 3: โรงเรียนธรรมาธิปไตย
ในระหว่างการประชุมพบปะพูดคุยของอาสาสมัครฯ มีตัวแทน (ประธานที่ปรึกษาและคุณครู) จากทางโรงเรียนธรรมาธิปไตยมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ในตอนท้ายของการประชุม ทางตัวแทนโรงเรียนได้แนะนำตัว และขอให้ทางอาสาสมัครฯ และมูลนิธิฯ ช่วยเข้าไปแนะนำการเรียนการสอนและอบรมนักเรียนด้วย โดยให้ข้อมูลการติดต่อ ดังนี้
คุณครูนฤมล จูประเสริฐ
โรงเรียนธรรมาธิปไตย
ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120
Tel: 032 232 375
Email: naruemoljup@gmail.com
ทางรองผู้อำนวยการ ร.พ.โพธาราม นพ.สมบูรณ์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ร่วมพัฒนากับโรงเรียน ซึ่งจะได้ประสานงานกับมูลนิธิฯ เพื่อดำเนินการต่อไป

วาระที่ 4: สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ประสงค์จะสมัครเป็นอาสาสมัครของฉือจี้
นพ.สมบูรณ์ได้แจ้งให้ทราบว่า ท่านสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์และความดีงามของฉือจี้ จึงใคร่ขอสมัครเป็นอาสาสมัครด้วย ในการณ์นี้จึงใคร่ขอใช้โอกาสในการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายด้านสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในท้องถิ่นให้ได้รับทราบข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ เพื่อให้งานด้านต่างๆ แผ่ขยายมากขึ้น
โดยเมื่อทุกอย่างพร้อม นพ.สมบูรณ์จะแจ้งกำหนดวันเวลาที่แน่นอนมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอยากให้มูลนิธิฯ ส่งอาสาสมัครมาช่วยในการณ์นี้เป็นกรณีพิเศษ
วาระที่ 5: แจ้งเรียนเชิญร่วมกิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ที่มูลนิธิฯ
เชิญอาสาสมัครและผู้สนใจร่วมงาน ตลอดจนตัวแทนจากโรงเรียนธรรมาธิปไตยเข้าร่วมเพื่อเพิ่มเติมความเข้าใจกับมูลนิธิฯ ให้มากขึ้น ในวันที่ 30 ม.ค. 2552 เวลา 14:00-16:00 น.

24 ม.ค. 2552: เยี่ยมครอบครัวบุญคุณ ร่วมกับ ร.พ.บ้านแผ้ว
การเยี่ยมครอบครัวบุญคุณในครั้งนี้มีนักเรียนจากโรงเรียนอมาตยกุล จำนวน 9 คน พร้อมกับคุณครู 1 ท่าน และนักศึกษาจาก ม.ธุรกิจบัณฑิต จำนวน 53 คน ร่วมออกเยี่ยมด้วย
โดยเริ่มแรกทาง ร.พ.ฯ คุณพยาบาลผวน ได้จัดห้องประชุมกล่าวต้อนรับแนะนำ ร.พ.ฯ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของ ร.พ.ฯ รวมถึงกิจกรรมที่ร่วมกับมูลนิธิฯ หลังจากนั้นจึงแนะนำครอบครัวบุญคุณที่จะพาเยี่ยมชมในวันนี้ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้เสริมเรื่องหลักการเยี่ยมที่ถูกต้องให้กับนักเรียนนักศึกษา
หลังรับประทานอาหารจึงแบ่งคณะออกเป็น 3 สาย หลังจากเยี่ยมแล้วให้นักเรียนนักศึกษากลับมาร่วมประชุมแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งผลจากการเยี่ยม มีดังต่อไปนี้
1) ยายทองสุข
สิ่งที่ได้ปฏิบัติ: ช่วยอาบน้ำให้พี่สมบัติ, ช่วยกันปลวกและแมลงสาปบริเวณบ้าน, พูดคุยกับยาย, ทำความสะอาดบ้าน, ล้างพัดลม, นำที่นอน-หมอนไปตากแดด, ซักผ้า, ล้างห้องน้ำ
แบ่งปัน: รู้สึกประทับใจในความรักของแม่ที่มีต่อลูก, กลับไปจะดูแลพ่อ-แม่ที่บ้านให้ดี
2) น้องกุ้ง
สิ่งที่ได้ปฏิบัติ: พูดคุยเรื่องความสวยความงาม สอดแทรกการดูแลตัวเอง โดยถึงแม้น้องจะพูดไม่ได้ แต่ก็หาวิธีสื่อสารต่างๆ (การเขียน) จนเข้าใจกัน, มอบแหวน เครื่องประดับเล็กน้อยๆ, ร่วมถ่ายรูปและส่ง mms ให้กับพ่อของน้องกุ้ง, ให้กำลังใจ (จนเมื่อจะลากลับน้องกุ้งถึงกับร้องไห้)
แบ่งปัน: เวลาเราลำบากกำลังใจจากคนในครอบครัวเป็นสิ่งซึ่งสำคัญมาก, ถึงน้องเป็นอย่างนี้ก็รู้จักกตัญญู รู้ว่าบางครั้งแม่เกิดความท้อ จึงไม่อยากให้แม่ไม่สบายใจ

3) ลุงสมควร
สิ่งที่ได้ปฏิบัติ: ช่วยทำความสะอาดร่างกายของลุง และโกนหนวดโกนผม, ช่วยให้อาหารเหลว, นวดตัว, พูดคุยและร้องเพลงให้ฟัง จนทำให้ลุงที่เริ่มแรกมีสายตาไม่พอใจ เปลี่ยนเป็นสายตาที่สบายใจขึ้น แสดงออกว่าอยากพูดคุยด้วย, ทำความสะอาดในบ้านและบริเวณโดยรอบ, เก็บเสื้อผ้า, ปูเสื่อน้ำมัน, พูดคุยแนะนำหลานของลุง (น้องเจน) เรื่องความสำคัญของการเรียนหนังสือ
แบ่งปัน: รู้สึกสงสาร ถ้าสามารถช่วยทำอะไรได้ก็จะช่วย และรู้สึกดีใจที่ได้ทำบุญ, เหนื่อยกาย แต่ใจอิ่มบุญ, รู้สึกได้ถึงความลำบากของลุงฯ เมื่อต้องสอดสายยางอาหารเหลวผ่านรูจมูกลงไปถึงกระเพาะ
สุดท้ายทางมูลนิธิฯ ได้สรุปกิจกรรมในวันนี้ และเชิญชวนนักเรียนนักศึกษามาร่วมกิจกรรมในครั้งต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะครอบครัวบุญคุณเหล่านี้มีความเหงา รอคอยนักเรียนนักศึกษามาเยี่ยมอีกครั้ง ซึ่งคุณพยาบาบผวน ได้กล่าวลงท้ายด้วยประโยคที่มีความหมายที่ดีว่า “การให้ยิ่งใหญ่กว่าการรับ”

หมายเหตุ: ระหว่างวันที่ 23-24 ม.ค. ทั้ง 2 วัน มีตัวแทนจากฝ่ายสังคมสงเคราะห์ จากมูลนิธิฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

เพลง ยินดีที่ได้พบกัน หวานยิ้ง

ชื่่อเพลง ยินดีที่ได้พบ 歡迎見到你 ฮวานหยิงเจี้ยนเต้าหนี่

ดีใจ จริงจริง ที่ได้พบเธอ-- 真真高興的見到你 -เจินเจินเกาซิ่งเตอะเจี้ยนเต้าหนี่
ใจเป็นสุขล้นที่มาต้อนรับเธอ 滿心歡喜的歡迎你-หมั่นซิงฮวานสี่เตอะฮวานหยิงหนี่
ฮวานหยิง(สวัสดีครับ/ค่ะ)----------歡迎-----------------------ฮวานหยิง
ฮวานหยิง(สวัสดีครับ/ค่ะ)----------歡迎-----------------------ฮวานหยิง
ยินดีต้อนรับเธอ---------------我們歡迎你------------หว่อเหมินฮวานหยิงหนี่

ชื่อเพลง โชคดีเมื่อยามจาก 離別祝福你 หลีเปี๋ยจู้ฝูหนี่

ดีใจ จริงจริง ที่ได้พบเธอ 真真高興的見到你 เจินเจินเกาซิ่งเตอะเจี้ยนเต้าหนี่
ใจเป็นสุขล้น ขอให้เธอโชคดี 滿心歡喜的祝福你 หมั่นซิงฮวานสี่เตอะจู้ฝูหนี่
จู้ฝู (โชคดีครับ/ค่ะ) 祝福 จู้ฝู
จู้ฝู (โชคดีครับ/ค่ะ) 祝福 จู้ฝู
ขอให้เธอโชคดี 我們祝福你 หว่อเหมินจู้ฝูหนี่

ชื่อเพลง ขอบคุณที่มีเธอ 感恩有你 กั่นเอินโหย่วหนี่


ดีใจ จริงจริง ที่ได้พบเธอ 真真高興的見到你 เจินเจินเกาซิ่งเตอะเจี้ยนเต้าหนี่
ใจเป็นสุขล้นและขอขอบพระคุณ 滿心歡喜的感恩你 หมั่นซิงฮวานสี่เตอะกั่นเอินหนี่
กั่นเอิน(ขอบคุณครับ/ค่ะ) 感恩 กั่นเอิน
กั่นเอิน(ขอบคุณครับ/ค่ะ) 感恩 กั่นเอิน
ฉันขอขอบพระคุณ 我們感恩你 หว่อเหมินกั่นเอินหนี่
อ้ายเตอะกู่ลี่ 愛的鼓勵 ตบมือให้กำลังใจด้วยรัก
1 2 1 2 3 1 2 3 4 1 2

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

วาระการประชุม สมาชิก อส.ฉือจี้ ราชบุรี 13-01-2553

การประชุม สมาชิก อส.ฉือจี้ ราชบุรี
ครั้งที่ 1/2553
วันที่ 13 มกราคม 2553
ณ.ห้องประชุม ชัยพฤกษ์ รพ.โพธาราม
เริ่มประชุม 14.30 น.
-------------------------------------------------------------

ก่อนวาระ

1.สอนร้องเพลง หวานยิ้ง
2.ฟังเทศน์จากท่าน เจิ้งเหยียน

วาระการประชุม

วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานจะแจ้งให้ทราบ
-นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี นพ.บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ สมัครเป็นอาสาสมัครฉือจี้เขตราชบุรี
วาระที่ 2 แต่งตั้งเลขาที่ประชุม และผู้ช่วยเลขา
วาระที่ 3 พิจารณาเห็นชอบ เครือข่ายการส่งข่าว ของ กลุ่ม อาสาสมัครฉือจี้
วาระที่ 4 พิจารณาเห็นชอบ ฝ่ายทะเบียนสมาชิก
วาระที่ 5 พิจารณาเห็นชอบ ฝ่ายการเงินของกลุ่ม
วาระที่ 6 พิจารณาเห็นชอบ ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์
วาระที่ 7 พิจารณาเห็นชอบ ฝ่ายประชาสัมพันธ์
วาระที่ 8 พิจารณาเห็นชอบ ฝ่ายดูแลครอบครัวบุญคุณ
วาระที่ 9 พิจารณาเห็นชอบ ฝ่ายกิจกรรม
วาระที่ 10 งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูธรรมรัตนคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธารามและเจ้าคณะอำเภอโพธาราม
วาระที่ 11 การเสนอครอบครัวบุญคุณเพิ่ม
วาระที่ 12 การไปอบรมอาสาสมัะครที่ สงขลา 23-26 มีนาคม 2553
วาระที่ 14 การจัดการอบรมอาสาสมัคร ที่โพธาราม กันยายน 2553
วาระที่ 15 กิจกรรมการประชุม อส ฉือจี้ ในวันที่ 23 มกราคม 2553
วาระอื่นๆ